> SET > BBL

21 ตุลาคม 2024 เวลา 12:37 น.

BBL-KTBมีอัพไซด์จากTHAI ชี้เป็นบวกคุณภาพสินทรัพย์

#BBL #KTB #ทันหุ้น - BBL-KTB รับอานิสงส์ THAIเตรียมออกจากแผนฟื้นฟูปี 2568 และกลับมาเทรดอีกครั้งราว มิถุนายน 2568 หนุน NLP ของทั้ง 2 แบงก์ลดลงในฐานะเจ้าหนี้ THAI ทางด้านโบรกมอง BBL-KTB มีอัพไซด์ ซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมินมูลค่าหุ้น THAI


ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSIระบุในบทวิเคราะห์ ว่า  บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI มีแผนปรับโครงสร้างทุนในไตรมาส 4/2567 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง แผนปรับโครงสร้างเงินทุน ประกอบด้วย 1.การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนไม่เกิน 9,800 ล้านหุ้น ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น เพื่อรองรับการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้  2.การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่บุคคลวงจำกัด (Private Placement) เพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิม, พนักงานและนักลงทุน


จากนั้น THAI จะลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะสม ซึ่งผู้บริหารของ THAI คาดว่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะกลับมาเป็นบวกเดือนกุมภาพันธ์ 2568 หลังจากนั้น THAI จะนำส่งงบการเงินให้ SET และ SEC เพื่อเตรียมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในเดือนเมษายน 2568 และ THAI คาดว่าศาลล้มละลายกลางจะเห็นชอบให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการเดือนพฤษภาคม 2568 ดังนั้น ผู้บริหารจึงคาดว่าหุ้น THAI น่าจะกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนสิ้นเดือนมิถุนายน 2568


*BB -KTB รับอานิสงส์

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ระบุว่า สำหรับธนาคาร 7 แห่ง ที่ทำการศึกษา พบว่า BBL และ KTB เป็นธนาคารที่มีการปล่อยเงินกู้ให้กับ THAI มูลค่า 1.19 หมื่นล้านบาท และ 5.8 พันล้านบาท ตามลำดับ ส่วนเจ้าหนี้รายอื่นไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ศึกษาหรือไม่ได้จดทะเบียนใน SET ทั้งนี้ตามข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 BBL ถือหุ้น THAI 0.4% แต่สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 5.8% หลังแปลงหนี้เป็นทุน


ขณะที่เชื่อว่าทั้ง BBL และ KTB น่าจะจัดชั้นหนี้ของ THAI เป็น NPL ตั้งแต่บริษัทยื่นขอฟื้นฟูกิจการในปี 2563 ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากกรอบเวลาที่ THAI จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ ธนาคารทั้ง 2 แห่งจึงน่าจะจัดชั้นหนี้ของ THAI เป็นสินเชื่อปกติหรือ Stage 1 ได้ภายในไตรมาส 4/2568 ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขเพื่อออกจากแผนฟื้นฟูกิจการคือ THAI จะต้องชำระคืนหนี้อย่างสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 5 ปี


กรณีที่หนี้ของ THAI ถูกจัดชั้นเป็นสินเชื่อปกติ คาดว่า BBL จะมีอัตราส่วน NPL ลดลงจาก 3.64% ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 เป็น 3.18% และอัตราการตั้งสำรองต่อหนี้ NPL จะเพิ่มจาก 283% เป็น 321% ขณะเดียวกันคาดว่า KTB จะมีอัตราส่วน NPL ลดลงจาก 3.85% เป็น 3.59% และอัตราการตั้งสำรองต่อหนี้ NPL จะเพิ่มขึ้นจาก 181% เป็น 192% ทั้งนี้คาดว่าธนาคารจะไม่กลับรายการเงินสำรองหรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) แต่จะนำไปรวมกับเงินสำรองส่วนเพิ่ม (Management Overlay) หรือเงินสำรองทั่วไป


*มองเป็นกลางกลุ่มแบงก์

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ยังแนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) ในกลุ่มธนาคารไทย เพราะมองว่ากลุ่มนี้ยังขาดปัจจัยหนุนที่แข็งแกร่งและประมาณการว่าธนาคารที่ศึกษาจะมี ROE เพียง 8.7-8.8% ในปี 2567-69(เทียบกับ ROE 11.2- 12.9% ของธนาคารในอาเซียนที่ทำการศึกษา) ขณะที่มองว่าธนาคารที่เน้นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่น่าจะ เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าธนาคารที่เน้นสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค


อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารจะมี Upside Risk หากการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น, ยอดส่งออกเติบโตสูงขึ้นและรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วน Downside Risk จะมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลงและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าช้า


บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่า การที่ THAI กลับเข้าตลาดจะทำให้ BBL และ KTB มี Upside โดย THAI ได้มีเผยแพร่รายงานของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) เพื่อเตรียมออกจากแผนฟื้นฟู และกลับเข้ามาจดทะเบียนใน SET ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์มองว่าจะทำให้เจ้าหนี้ของ THAI มีอัพไซด์ โดยเฉพาะ BBL และ KTB ซึ่งเป็นเจ้าสถาบันการเงินรายใหญ่


ทั้งนี้ จากข้อมูลเจ้าหนี้ของ THAI ซึ่งมีการแบ่งออกเป็นทั้งหมด 36 กลุ่ม มียอดหนี้คงค้างรวม 4.04 แสนล้านบาท BBL และ KTB ถูกจัดเป็นเจ้าหนี้หลักกลุ่มที่ 6 ซึ่งมียอดหนี้ คงค้างรวมประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท และเนื่องจากหนี้ของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 ถูกจัดชั้นเป็นหนี้ปลอดหลักประกัน จึงมองว่าทั้ง BBL และ KTB ได้มีการตั้งสำรอง บางส่วนในหนี้ส่วนนี่แล้ว


*จ่ายหนี้สม่ำเสมอ

หลังจากที่ได้สัมภาษณ์ผู้บริหาร THAI ทำให้ทราบว่าธนาคารได้รับชำระหนี้จากการ THAI อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มใช้แผนฟื้นฟูเมื่อ 5 ปีก่อน โดยบริษัทไม่ได้เปิดเผยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งตามแผนการ ออกจากการฟื้นฟู เจ้าหนี้ของ THAI (สถาบันการเงิน, ผู้ถือหุ้นกู้, กระทรวงการคลัง, รัฐวิสาหกิจ) ได้รับการชำระคืนหนี้ผ่านหลายรูปแบบ


อาทิเช่น การบังคับแปลงหนี้เป็นทุน และแปลงหนี้เป็นแบบสมัครใจ ที่ราคา 2.54 บาท และการยืดอายุหนี้ ทั้งนี้ เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 ถูกจัดกลุ่มใหม่ และได้รับทางเลือก หลายทางในการรับชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้น และการขยายระยะเวลาชำระหนี้สูงสุดเป็น 15 ปี โดยคิดดอกเบี้ย 1.5%.


*อัพไซด์ขึ้นอยู่กับ THAI

ตามรายงานของ IFA ชี้ให้เห็นว่า BBL อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ที่ต้องถูกบังคับแปลงหนี้เป็นทุน และจะกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลักที่ 6.8% และอาจจะมีทางเลือกแปลงหนี้เป็นทุนตามความสมัครใจด้วย ในขณะที่ในรายงานของ IFA ยังประเมินมูลค่าหุ้น THAI ไว้ในช่วงกว้างระหว่าง 0-13 บาทต่อหุ้น ซึ่งหาก THAI กลับเข้ามาจดทะเบียนในตลาด และราคาหุ้นสูงกว่าราคาแปลงหนี้เป็นทุนจะทำให้ BBL และ KTB สามารถปลดสำรองออกมาได้ และบันทึกกำไร FVTPL


ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ยังคงชอบ BBL และ KTB มากกว่าหุ้นอื่นในกลุ่ม เพราะมีส่วนรองรับรายได้ และสามารถบริหารจัดการรายได้ที่อาจจะลดลงจากการที่ NIM ลดลงจากการลดดอกเบี้ยในปี 2568 ได้

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวล่าสุด

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X