ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKIซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BKIH มองว่า ประกันรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังเป็นตลาดที่มีอัตราค่าสินไหม (Loss Ratio) อยู่ในระดับสูง ซึ่งบางรุ่น บางยี่ห้อก็สูงถึงระดับ 100%ดังนั้นในส่วนของ BKIจึงยังคงนโยบายระมัดระวังการรับประกันรถยนต์อีวีต่อไป โดยเน้นคัดคุณภาพ และกำหนดราคาเบี้ยประกันที่สูงกว่าตลาดราว 10-20%เพื่อกรองกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้มองราคาเป็นตัวหลักในการซื้อผลิตภัณฑ์ แต่มองถึงบริการหลังการขายของBKIเป็นหลัก
“รถอีวีแต่ละแบรนด์เราคิดเบี้ยไม่เท่ากัน บางรุ่นแพงกว่าตลาด 10% บางรุ่นก็ 15%ไปจนถึง20% ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง”
*เลือกรถไฮบริดมากขึ้น
อย่างไรก็ตามจากราคารถอีวีที่ตกลงอย่างรวดเร็วทำให้ผู้บริโภคเริ่มคิดมากขึ้นในการซื้อรถกลุ่มนี้ เพราะมองว่ามีโอกาสที่รถอีวีจะปรับราคาลงอีก รวมถึงมูลค่าตัวรถที่ใช้ไปนานๆ ก็แถบจะไม่มีราคาเลยเมื่อเทียบกับรถสันดาปที่เสียหายหนักเอาซากไปขายก็ยังมีราคาที่สูงกว่า นอกจากนี้รถอีวีบางรุ่น บางยี่ห้อการใช้เวลาซ่อมนานเนื่องจากต้องรออะไหล่จากผู้ผลิตต่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคเริ่มคิดถึงความเสี่ยง และหันกลับมาซื้อรถไฮบริด (Hybrid) มากขึ้น
นอกจากนี้ในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัยก็กังวลเรื่องการฉ้อฉล (Moral Hazard) ซึ่ง ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวว่า แม้จะยังไม่เกิดขึ้นแต่ไม่ได้แปลว่าไม่มีโอกาส เพราะข่าวที่ออกมาตามสื่อก็เห็นว่ามีเคสที่พยายามเคลมแบบผิดปกติ ซึ่งในกรณีของรถอีวี มองว่า มูลค่าของรถอีวีตกลงทุกปี เช่นเดียวกับราคารถอีวีที่แข่งขันกันลดราคา ทำให้มีโอกาสที่ผู้เอาประกันบางรายคิดหาวิธีสร้างเรื่องให้รถอีวีพังแบบเสียหายโดยสิ้นเชิง (Total Loss) ในส่วนนี้บริษัทประกันก็ต้องจ่ายค่าสอนไหมตามทุนประกันที่ตกลงไว้ โดยที่อาจไม่รู้ด้วยว่าเป็นความตั้งใจ หรืออุบัติเหตุจริง ทำให้บริษัทประกันภัยค่อนข้างกังวลในประเด็นนี้
ดร.อภิสิทธิ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยนโดยเฉพาะในต่างประเทศมีการพัฒนาโมเดลรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนแล้ว เทสล่าก็มีโมเดลดังกล่าวแล้วเช่นกัน เชื่อว่าไม่เกิน 7 ปีน่าจะเห็นรถพลังงานไฮโดรเจนในตลาดต่างประเทศ แต่ในส่วนของไทยอาจต้องรอเวลา เนื่องจากการขนส่งไฮโดรเจนมีต้นทุนที่สูงมาก ขณะที่ชิ้นส่วนรถยนต์ก็เหมือนรถอีวีไม่ได้ใช้อะไหล่มาก
*เล็งลงทุนผุดอู่อีวี
“ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เรามองว่า อุตสาหกรรมรถขณะที่ค่อนข้างเปราะบาง เพราะมีโมเดลใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นจากรถยนต์ไฟฟ้าก็มาไฮโดรเจน ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องวางแผนบริหารความเสี่ยงให้รอบคอบ ซึ่งเราเองก็ไม่ได้ปฏิเสธในเรื่องของรถอีวี เพราะเราก็มีแผนที่จะพัฒนาอู่ของเราเองให้สามารถซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า”
ดร.อภิสิทธิ์ บอกว่า ยังจำเป็นต้องพัฒนาอู่ซ่อมรถยนต์อีวี เพราะรถอีวีก็ถือเป็นเทรนด์แห่งอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างคุย และเจรจากับผู้ประกอบการจีนที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในการซ่อมรถยนต์อีวี โดยเป้าหมายของการลงทุนในครั้งนี้ไม่ได้จะเข้ามาแข่งขันกับศูนย์ซ่อม แต่จะเป็นการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ ด้วยการกำหนดเบี้ยสำหรับซ่อมอู่ กับซ่อมศูนย์ซึ่งมีราคาต่างกัน และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
เพราะปัจจุบัน รถอีวีเกือบทั้งหมดยังต้องส่งซ่อมศูนย์ เพราะอู่ทั่วยังไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในรถกลุ่มนี้ ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่า การซ่อมศูนย์ค่าซ่อม ค่าแรงที่สูงกว่าอู่ทั่วไป ดังนั้นเพื่อให้บริษัทประกันภัยคุมต้นทุนได้ก็จำเป็นที่จะต้องมีอู่ในเครือของตนเอง
*เป้าเบี้ยประกัน 300 ล้าน
สำหรับ BKI พอร์ตรถอีวีปัจจุบันมีอยู่ราว 7,100 คัน มีส่วนแบ่งทางการตลาดราว 4.4% จากรถอีวีทั้งตลาดอยู่ที่ประมาณ 1.66 แสนคัน BKI มีเบี้ยในรถกลุ่มนี้ราว 215 ล้านบาท คาดว่าในปี 2568 เบี้ยประกันจะอยู่ที่ราว 300 ล้านบาท
ซึ่งเป็นการเติบโตตามเทรนด์ของรถอีวี แต่ไม่ได้มาจากการรุกในตลาดนี้
“ปีนี้ตลาดรถยนต์คงไม่ได้เติบโตมาก จากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ และกำลังซื้อ ดังนั้นสิ่งที่เราวางแผนในปีนี้จะทำอย่างไรให้คู่ค้า และลูกค้าเลือกทำประกันกับเราต่อไป ซึ่งนั่นหมายถึงการไม่หยุดนิ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งพัฒนาระบบเพื่อรองรับการให้บริการต่างๆ ได้แตกต่าง และรวดเร็ว นี่คือเป้าหมายของปีนี้”
นางสาวปวีณา จูชวน ผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า กรุงเทพประกันภัยให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าในทุกมิติ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีและสร้างความประทับใจ โดยบริษัทได้นำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายด้าน เพื่อยกระดับการบริการสู่การเป็น Service Excellence เช่น AI Agent รับแจ้งอุบัติเหตุที่ไม่เร่งด่วน (เคลมแห้ง) และให้บริการตอบคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป เช่น ขั้นตอนการเคลม การจ่ายสินไหมทดแทน โดยคาดว่าจะมีจำนวน 235,000 สายต่อปี ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอสายเป็นเวลานาน
AI ช่วยอนุมัติการซ่อมรถได้รวดเร็ว บริษัทได้นำ AI มาใช้ในกระบวนการอนุมัติการจัดซ่อมรถยนต์ของอู่ สำหรับกรณีที่มีวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท ได้ภายใน 1 วัน ทำให้อู่ซ่อมสามารถเริ่มงานซ่อมได้ทันที และช่วยลดระยะเวลาการรอคอยของลูกค้า
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม