#THAI #ทันหุ้น-บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เตรียมนำหุ้นกลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 3/68 นี้ หลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเรียบร้อยแล้ว จากการที่ดำเนินการตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการได้ครบถ้วน และผลักดันให้ส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกได้
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2568 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่บริษัทได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ภายหลังดำเนินการตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการครบถ้วนทุกประการ ทั้งด้านการเพิ่มทุน การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และผลประกอบการที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทมี EBITDA จากการดำเนินงานย้อนหลัง 12 เดือนอยู่ที่ 40,308 ล้านบาท สูงกว่ากรอบที่กำหนดไว้ที่ 20,000 ล้านบาทอย่างมีนัยสำคัญ และมีส่วนของผู้ถือหุ้นกลับมาเป็นบวกเรียบร้อยแล้ว
ภายหลังการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ อำนาจหน้าที่ของผู้บริหารแผนในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ จึงสิ้นสุดลง และคณะกรรมการของบริษัทฯ จึงกลับมามีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทฯ ตลอดจนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ กลับมามีสิทธิตามกฎหมายต่อไป และบริษัทฯจะเดินหน้าขออนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อนำหุ้น THAIกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยคาดว่าจะสามารถกลับเข้าซื้อขายได้ภายในต้นไตรมาส 3 ปี 2568
ปัจจุบันการบินไทยมีความพร้อมที่จะกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสาร นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1/2568 บริษัทฯ มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 51,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 45,955 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.3% และมีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนต้นทุนทางการเงิน(ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) กว่า 13,661 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตรากำไร EBIT margin ที่ 26.5% ซึ่งถือได้ว่าสูงเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก (แหล่งที่มาจาก Airline Weekly)
ขณะเดียวกัน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 การบินไทยและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม จำนวน 297,753 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 1.8% จากสิ้นปี 2567 โดยมีเงินสดรวม และรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 124,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 9,858 ล้านบาท ในขณะที่หนี้สินรวม ลดลง 1.9% มาอยู่ที่ 242,314 ล้านบาท ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้น อยู่ที่ 55,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.6% โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 บริษัทฯมีอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Interest Bearing Debt to Equity) เท่ากับ 4.37 เท่า และ 2.23 เท่าตามลำดับ ซึ่งดีขึ้นอย่างมากจากก่อนเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการณ สิ้นปี 2562 ที่ 20.66 เท่า และ 12.52 เท่า ตามลำดับอันเป็นผลมาจากการปฏิรูปธุรกิจและการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการในช่วงที่ผ่านมา
**ยกระดับการให้บริการ
ทั้งนี้การบินไทยมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องกาทั้งลูกค้าที่เคยใช้บริการ และลูกค้าใหม่ ผ่านการปรับปรุงห้องโดยสารในเครื่องบินฝูงปัจจุบันโดยล่าสุดได้ปรับรูปแบบการวางเก้าอี้ชั้น Royal Silk Class ภายในเครื่องลำตัวแคบอย่าง Airbus A320 จัดวางแบบ 2-2 ใน 3 แถวแรก พร้อมติดตั้งระบบความบันเทิงไร้สาย (Wireless IFE) ครบทุกที่นั่ง รองรับการรับชมภาพยนตร์ รายการทีวี รายการเพลง และแผนที่การเดินทางแบบ Real Time บนอุปกรณ์ส่วนตัวของผู้โดยสารพร้อมกับแผนปรับปรุงห้องโดยสารของเครื่องบินแบบอื่นๆในอนาคต
นอกจากนั้นยังจัดหาเครื่องบินเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและเสริมศักยภาพฝูงบินให้มีความทันสมัย โดยในปีนี้มีแผนรับมอบเครื่องบินแบบแอร์บัส A321neo, A330-300 และ โบอิ้ง 787-9 เพื่อรองรับกลยุทธ์การเป็นสายการบินแบบเครือข่าย (NetworkAirline)ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ผ่านการให้บริการเส้นทางบินที่หลากหลายและครอบคลุมจุดหมายสำคัญทั่วโลก ตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่หลากหลาย และเพิ่มรายได้โดยการขายตั๋วโดยสารสำหรับการเดินทางที่เชื่อมต่อกันตลอดจนปรับโครงสร้างฝูงบินพร้อมแผนรองรับทั้งระยะสั้น ระยะกลางโดยตั้งเป้าลดแบบเครื่องบินเหลือ 4 รุ่นหลัก และมีจำนวนฝูงบินรวม 150 ลำ ในปี 2576 ซึ่งจะช่วยให้การบินไทยสามารถบริหารจัดการฝูงบินได้อย่างคล่องตัว ตลอดจนรักษาความสามารถในการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ต้นทุนการซ่อมบำรุงจากการใช้อะไหล่ (Part) ร่วมกันในบางส่วน
นอกเหนือจากการพัฒนาฝูงบินและห้องโดยสาร การบินไทยยังสร้างความประทับใจด้วยการมอบประสบการณ์เดินทางที่เหนือระดับในทุกมิติ ทั้งคัดสรรวัตถุดิบท้องถิ่นจากทุกภูมิภาคของไทยมารังสรรค์เมนูอาหารบนเครื่องบิน รวมถึงคัดสรร “สตรีทฟู้ดไทย” ร้านดังระดับตำนาน และร่วมมือกับเชฟไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาสร้างสรรค์เมนูตามประวัติศาสตร์ไทย หมุนเวียนขึ้นมาเสิร์ฟบนเครื่องบินอีกด้วย ตลอดจนเครื่องดื่ม อาหารว่าง และกระเป๋าชุดอำนวยความสะดวก (Amenity Kit) ที่ไม่เพียงแต่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทย แต่–เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราว และความตั้งใจจากพันธมิตรแบรนด์ไทยมากมาย
พร้อมปรับปรุงนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อยกระดับการให้บริการที่ “ดีขึ้น เร็วขึ้น และตรงใจมากขึ้น” ผ่านการปรับปรุงเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ที่ทำให้การใช้งานสะดวกมากขึ้น ทั้งการจองตั๋ว การแลกไมล์สะสม ตลอดจนการติดตามสถานะเที่ยวบินแบบ Real-time นอกจากนั้นยังเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับระบบการทำงานของลูกเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจะช่วยให้ลูกเรือบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและใส่ใจมากยิ่งขึ้น เช่น ความต้องการพิเศษของผู้โดยสารระหว่างเที่ยวบิน การติดตามของหาย (Lost & Found) ที่ให้ทีมงานประสานงานกันได้รวดเร็วและทันท่วงที
ด้วยการบริหารจัดการในฐานะ “บริษัทเอกชน” พร้อมความมุ่งมั่นในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการบริการ ทั้งหมดนี้จะนำพาการบินไทยให้ก้าวเข้าสู่การเติบโตครั้งใหม่ที่แข็งแกร่งและยั่งยืนสะท้อนให้เห็นจากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับการได้รับความเชื่อมั่นจากพันธมิตรทางธุรกิจและสถาบันการเงิน และบริษัทฯ ยังได้รับการปรับอันดับเครดิตให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการส่งเสริมความสามารถของบริษัทในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในต้นทุนที่เหมาะสม สร้างโอกาสในการลงทุนต่อยอดทั้งในด้านฝูงบิน ระบบไอที และการบริการเพื่อมุ่งสู่การเป็นสายการบินชั้นนำระดับโลกที่มีศักยภาพในการแข่งขัน และเป็นสายการบินที่คนไทยภาคภูมิใจ
รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ได้ทุกช่องทางเหล่านี้
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม