#ทันหุ้น-ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานปรับตัวลดลงเข้าใกล้แนวรับสำคัญที่ 1,100 ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับขึ้นไปเหนือระดับ 1,120-1,125 แต่เรายังคงคาดว่า แนวโน้มในระยะสั้นยังมีโอกาสปรับตัวลดลงไปทดสอบแนวรับที่ 1,090 โดยมีแนวต้านสำคัญที่ 1,130 ถ้าทะลุผ่านขึ้นไปได้จะมีแนวต้านถัดไปที่ 1,160 และ 1,180 เป็นแนวต้านสำคัญ
สำหรับหุ้นที่น่าสนใจวันนี้ คือ BGRIM หรือ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
BGRIM รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 1/68 มีกำไรสุทธิ 653.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.6จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 378.65 ล้านบาท
โดยบริษัทมีรายได้รวม 13,705 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 3.2จากปริมาณขายไฟฟ้ารวมที่ลดลง ร้อยละ 1.4 อยู่ที่ 3,689 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (จากโครงการภายใต้การควบรวมบัญชี) รวมถึงการลดลงของราคาขายไฟฟ้าต่อหน่วยแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และลูกค้าอุตสาหกรรม (IUs) ในประเทศไทย รวมถึงรายได้จากการขายไอน้ำที่ลดลง แต่ได้รับการชดเชยบางส่วนจากการรับรูโครงการ Malacha และปริมาณขายไอน้ำให้ลูกค้า IUs เพิ่มขึ้น
EBITDA อยู่ที่ 3,725 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการรวมงบของ Malacha หลังเข้าซื้อกิจการเมื่อพ.ค. 67 รวมถึงปริมาณขายไอน้ำให้ลูกค้า IUs ในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 นอกจากนี้ยังมีส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ดีขึ้น การลดลงของราคาก๊าซ และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX) โดยอัตรากำไร EBITDA เติบโตเป็นร้อยละ 27.2 เทียบกับร้อยละ 25.6 ในช่วงเดียวกันปีก่อน
ต้นทุนก๊าซธรรมชาติลดลง ร้อยละ 4.7 อยู่ที่ 8,407 ล้านบาท เนื่องจากราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติลดลง ร้อยละ 1.9 เป็น 334 บาทต่อล้าน BTU นอกจากนี้ภาพรวมการใช้ก๊าซธรรมชาติต่อหน่วยลดลง จากอัตราการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (heat rate) ดีขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการการเดินเครื่อง นอกจากนี้มีต้นทุนการเงินลดลง ร้อยละ 39.2 อยู่ที่ 1,316 ล้านบาท เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ลดลง
บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมและการร่วมค้า 162 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่รับรู้ผลขาดทุน เนื่องจากผลการดำเนินงานของ UVBGP รวมถึงกำไรจาก FX ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงของ GIFU Solar นอกจากนี้ยังมีกำไร FX สุทธิอยู่ที่ 113 ล้านบาท จากสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่ครบกำหนด ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินให้กู้ยืมแก่กิจการที่เกี่ยวข้อง
นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจในประเทศไทยและโซลูชั่นธุรกิจอุตสาหกรรม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่าบริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท ดิจิทัล เอดจ์ (สิงคโปร์) โฮลดิงส์ จำกัด (ดิจิทัล เอดจ์) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดาด้าเซ็นเตอร์ชั้นนำในเอเชียที่ได้รับการสนับสนุนจาก Stonebeak นักลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน Digital Edge B.Grimm (TH) Holding Pte. Ltd เพื่อพัฒนาศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ไฮเปอร์สเกลและรองรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในประเทศไทย โดย BGRIM ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวสัดส่วน 40% และพันธมิตรดิจิทัล เอดจ์ ถือหุ้นสัดส่วน 60%
ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าจะก่อสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยให้ครบจำนวน 300 เมกะวัตต์ (MW) ในช่วง 5 ปี (ปี 68-72) ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท โดยการก่อสร้างศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์จะเริ่มด้วยโครงการเรือธงขนาดเกือบ 100 MW (ขนาดกำลังการผลิตจริง 96 MW) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มูลค่าโครงการรวมกว่า 50,000ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ประมาณ 24,520 ล้านบาท และการก่อสร้างระบบภายในอีกราว 20,000 ล้านบาท
โดยบริษัทจะนำเสนอการให้บริการโคโลเคชั่นความหนาแน่นสูง การเชื่อมต่อระหว่างศูนย์ และโซลูชั่นคลาวด์แบบผสมผสานเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มไฮเปอร์สเกลกลุ่ม AI และองค์กรที่ต้องการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิจิทัล โดยมีแผนเร่งก่อสร้างเพื่อรองรับความต้องการของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ต้องการขยายโครงสร้างพื้นฐาน AI ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมตั้งเป้าเปิดให้บริการภายในไตรมาส 4/69
สำหรับโครงการส่วนแรกขนาด 96 MW แบ่งออกเป็น 2 เฟส ซึ่งแบ่งเป็นเฟสแรกขนาด 48 MW ซึ่งจะใช้เงินลงทุนในส่วนของ BGRIM ราว 2,000 ล้านบาท คาดจะเปิดบริการเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ปลายปี 68 และเฟส 2 ขนาด 48 MW จะใช้เงินลงทุนในส่วนของ BGRIM ราว 1,000 ล้านบาท เปิด COD ช่วงปลายปี 69
ตลาดโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีการบริโภคข้อมูล การใช้บริการคลาวด์ และการประมวลผล AI /แมชชีนเลิร์นนิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายงานอุตสาหกรรมล่าสุดคาดการณ์ว่าตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ของไทยจะเติบโตเฉลี่ยมากว่า 25% ต่อปีจนถึงปี 73 ขณะที่ความต้องการด้าน AI จะเป็นตัวเร่งสำคัญในการผลักดันความต้องการศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ที่สามารถขยายตัวได้และมีประสิทธิภาพด้านพลังงาน รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนกว่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ เพื่อผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในภูมิภาค
ราคาหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องไปทดสอบแนวรับสำคัญที่ 9.00 หลังจากปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามกรอบแนวโน้มขาลง แต่เราคาดว่า แนวโน้มของราคาหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวเหนือแนวรับสำคัญกลับขึ้นไป โดยมีแนวต้านที่ 11.00 และ 12.00 ถ้าทะลุผ่านขึ้นไปได้ จะมีแนวต้านถัดไปที่ 15.00
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม