#TLI #ทันหุ้น – TLIธุรกิจประกันภัยในไตรมาส 2/2568 เป็นช่วง Low Seasonแต่เริ่มเห็นทิศทางที่ฟื้นตัว ใช้กลยุทธ์หลักคือนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายตอบความต้องการลูกค้า เช่น ความต้องการประกันสุขภาพ ประกันสะสมทรัพย์ เพื่อเพิ่มความสามารถทำกำไรของบริษัทภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 17 ด้านพอร์ตการลงทุนยังคงเน้นไปที่ตราสารหนี้ 87.5% และหุ้น 12.5% โดยระวังผลกระทบจากสงครามทางค้าที่จะส่งผลต่อพอร์ตการลงทุน
นายฉี หลิง หยาง Chief Actuary ดูแลงานด้านคณิตศาสตร์ประกันชีวิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจประกันภัยในไตรมาส 2/2568 เป็นช่วงโลว์ซีซัน (Low Season) ของธุรกิจประกันภัย เนื่องจากเดือนเมษายนมีวันหยุดเยอะ ซึ่งหลังจากมีการเริ่มใช้ประกันร่วมจ่าย (Co-Payment)หรือประกันร่วมจ่าย ในวันที่ 20 มีนาคม 2568 ยังคงมีกรมธรรม์ตกค้างที่ต้องออกในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมและเมษายน โดยเริ่มเห็นแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในเดือนพฤษภาคม
จากก่อนหน้านี้ในช่วงไตรมาส 1/2568 เบี้ยประกันภัยรับปีแรกในธุรกิจประกันสุขภาพปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากลูกค้ามีความต้องการรีบซื้อสัญญาประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงก่อนที่อุตสาหกรรมประกันภัยจะเริ่มนำระบบ Co-Payment มาบังคับใช้ในเดือนมีนาคม 2568
@เน้นประกันสะสมทรัพย์
ทั้งนี้การเติบโตในปี 2568 กลยุทธ์หลักคือนำเสนอผลิตภัณฑ์หลากหลายตอบความต้องการลูกค้า เนื่องจากไตรมาส 1/2568 เห็นต้องการประกันสุขภาพสูง จาก Co-Payment บริษัทจึงออกผลิตภัณฑ์สุขภาพเพิ่มเติม คาดว่าจะขายได้ตลอดปี ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงทำให้ผลิตภัณฑ์ประเภทสะสมทรัพย์ได้รับความนิยมมากขึ้นในไตรมาส 2-3/2568
บริษัทจึงได้เตรียมเสนอขายผลิตภัณฑ์สะสมทรัพย์ที่ตอบโจทย์ เช่น ผลิตภัณฑ์แบบมีส่วนร่วมในเงินปันผล (Participating Products)ที่ลูกค้าจะได้รับเงินปันผลเพิ่มเติมเมื่อผลตอบแทนการลงทุนสูงขึ้น
โดยเป้าหมายหลักของบริษัทคือความสามารถทำกำไรที่แข็งแกร่งและเติบโตภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 17 ที่รายได้หลักไม่ใช่เบี้ยรับรวม แต่เป็นการรับรู้กำไรจากการให้บริการตามสัญญา(CSM) เพื่อการเติบโตกำไรอย่างยั่งยืนจะต้องสร้าง CSM Balance ต่อเนื่องจากการเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่มีกำไรสูง
@ลงทุนตราสารหนี้
นายอาจ เสรีนิยม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ดูแลงานด้านการลงทุน และการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์ บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ TLI เปิดเผยว่า เป้าหมายภายในของบริษัทยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ (Fixed Income) ประมาณ 87.5% โดยส่วนใหญ่ยังเน้นพันธบัตรรัฐบาล โดยลดสัดส่วน หุ้นกู้ (Corporate Bond) ลงเล็กน้อยเนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับ Credit
ส่วนการลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศในช่วงหลังมีไม่มากนัก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยหลังจากแปลงเป็นเงินบาทไม่ดีเท่าที่ควร และที่เหลือเป็นหุ้น (Equity) ประมาณ 12.5% ซึ่งปัจจุบันยังมีเงินสดส่วนของ Equity ประมาณ 15% ที่ยังไม่ได้ลงทุน เนื่องจากกำลังรอจังหวะการลงทุนที่เหมาะสม
@บริหารความเสี่ยงการลงทุน
ด้านผลกระทบการสงครามทางการค้าอาจไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัท แต่จะกระทบทางอ้อมต่อ GDP และสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ในส่วนของการลงทุนบริษัทได้มีการทำการประเมินความน่าเชื่อถือทางเครดิตและติดตามบริษัทที่ไปลงทุนอย่างใกล้ชิด ทั้งตราสารหนี้และหุ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถบริหารพอร์ตการลงทุนได้ และป้องกันไม่ให้ได้รับผลกระทบต่อการลงทุน
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม