12 มิถุนายน 2025 เวลา 11:36 น.
#Priceza Money #ทันหุ้น- Priceza Money เปิดเทรนด์ประกันรถ ชี้อนาคตของประกันรถยนต์จะมาเป็นแบบเหมารวม เพราะจะคิดอัตราเบี้ยแบบรายบุคคลตามความเสี่ยง ประเดิมเริ่มเก็บข้อมูลการขับขี่ผ่านระบุชื่อคนขับ สูงสุด 5 รายในการทำประกันรถ ขณะเดียวกันรถ EVยังเป็นความเสี่ยงของภาคธุรกิจด้วยการแข่งขันที่สูง และเทคโนโลยียังไม่นิ่ง
นายสิรวิชญ์ ฉายะวาณิชย์ Head of Priceza Money ซึ่งเป็นบริษัท อินชัวร์เทค (Insurance) สำหรับเปรียบเทียบราคาเบี้ยประกันรถ เปิดเผยถึงเทรนด์ประกันรถยนต์ ในปี 2568และในอนาคตข้างหน้าว่า อนาคตของประกันรถยนต์จะคิดเบี้ยแบบรายบุคคล ไม่เป็นเหมาจ่ายเช่นปัจจุบัน ทำให้อัตราเบี้ยประกันของรถแม้จะเป็นรุ่นเดียวกัน แบรนด์เดียวกัน แต่ถ้าคนขับมีอายุที่ต่างกัน คนละเพศ ก็จะจ่ายเบี้ยต่างกันตามอัตราความเสี่ยง
*จับพฤติกรรมขับขี่รายคน
“ปัจจุบันบริษัทประกันวินาศภัยรวมกับหน่วยงานกำกับอย่าง คปภ. ได้จัดทำฐานข้อมูลกลาง ที่เป็นอินชัวรันส์บูโร เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถนำข้อมูลพฤติกรรมผู้ขับขี่มาใช้ในการพิจารณาเบี้ยประกัน โดยเริ่มจากการระบุผู้ขับขี่ในการทำประกันรถยนต์จำนวน 5 คน ซึ่งได้มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเริ่มนำร่องที่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) และในปีนี้จะเริ่มจากรถใหม่ป้ายแดง และปี 2569 รถทุกคันจะเข้าสู่ระบบนี้”
นายสิรวิชญ์ ระบุว่า การระบุชื่อผู้ขับขี่ 5 คน จะคำนวณเบี้ยประกันกับผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมขับขี่แย่สุด อย่างไรก็ตาม หากผู้ขับขี่มีพฤติกรรมขับขี่ดีก็จะได้ส่วนลดเบี้ยในปีถัดไปที่ 40% และเกณฑ์ในการระบุชื่อผู้ขับขี่สูงสุด 5 คนนี้ยังได้รับส่วนลดเบี้ยประกันอีก 40%ทำให้ได้ ส่วนลดส่วนสูงสุด 80% อย่างไรก็ตาม เกณฑ์นี้จะไม่นำมาใช้กับ รถเช่า และรถแท็กซี่
ขณะที่ปัจจุบัน การย้ายค่ายรถในปีต่ออายุเพื่อเลี่ยงการจ่ายเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในปีต่ออายุ กรณีที่ผู้ขับขี่มีเคลมสูง หรือเคลมบ่อยยังสามารถทำได้ แต่ นายสิรวิชญ์ บอกว่าในอนาคตจะทำได้ยาก เพราะเมื่อมีการเก็บรวบรวมพฤติกรรมผู้ขับขี่เป็นรายคนไว้ในฐานข้อมูลกลาง บริษัทจะสามารถเช็กประวัติการขับขี่ได้ ดังนั้นต่อให้ย้ายค่ายประกันก็ยังต้องจ่ายเบี้ยในอัตราที่สูงตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
เกณฑ์ดังกล่าวนี้คาดหวังว่าจะทำให้พฤติกรรมของผู้ขับขี่รถดีขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทประกันก็จะเลิกแข่งขันเรื่องราคา แต่หันมาแข่งขันในเรื่องของบริการแทน เพราะปัจจุบัน การแข่งขันเรื่องเบี้ยยังคงมีอยู่ และรุนแรง ซึ่งหากบริษัทบริหารความเสี่ยงไม่ดีก็อาจส่งผลกระทบต่อฐานการเงินของบริษัทประกันได้
*รถ EV คือความท้าทาย
นายสิรวิชญ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับอีกเทรนด์ของตลาดประกันรถ คือ การมาของรถไฟฟ้า หรือ (EV) สร้างการเปลี่ยนแปลงในตลาดประกันค่อนข้างมาก ในปีแรกๆ ที่รถอีวีเข้ามาในตลาดไทย บริษัทประกันภัยยังไม่รู้ถึงความเสี่ยง เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ บวกกับความต้องการขยายพอร์ตรถ EVทำให้เกิดการแข่งขันเรื่องสงครามราคาเช่นกัน
แต่หลังจากรับงาน 2-3 ปี สถิติเริ่มสะท้อนข้อมูลที่แท้จริง รถ EVมีความเสี่ยงที่สูงมากโดยเฉพาะการเปลี่ยนแบตเตอรี รวมถึงต้องซ่อมที่ศูนย์ ไม่สามารถซ่อมอู่ได้ ทำให้อัตราค่าสินไหมของรถ EVอยู่ในระดับสูง พอร์ตงานรถอีวีก็ขาดทุน ดังนั้นบริษัทประกันจึงเริ่มปรับอัตราเบี้ยขึ้นเพื่อสะท้อนความเสี่ยง ปัจจุบัน อัตราเบี้ยประกันรถ EV ก็ยังคงสูงกว่ารถสันดาปราว 16% - 48%
“นอกจากนี้การแข่งขันลดราคารถ EVก็ทำให้บริษัทประกันวินาศภัยต้องปรับข้อมูลรายเดือน เพื่อกำหนดวงเงินทุนประกันกันใหม่ เนื่องจากกลัวการฉ้อฉล หลังจากราคารถอีวีลดลงเร็วและแรง ทุนประกันก็ต้องปรับลดตามเพื่อป้องกันการฉ้อฉลหวังเงินทุนประกันไปออกรถใหม่”
นายสิรวิชญ์ กล่าวต่อไปว่า ยังมีความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจของค่ายรถ โดยเฉพาะ NETAที่มีปัญหาเรื่องของอะไหล่ เนื่องจาก NETA ในจีน มีปัญหาการเงิน ทำให้มีการปิดศูนย์ซ่อม และมีข่าวว่าไม่สามารถจ่ายค่าอะไหล่ให้กับซัพพลายเออร์ ทำให้ซัพพลายเออร์ไม่ปล่อยอะไหล่ให้กับ NETA ดังนั้นผู้ใช้รถ NETAตอนนี้จึงมีความเสี่ยงที่บริษัทจะไม่รับประกัน เพราะถ้ารับก็จะเจอชาร์จราคาสูงขึ้นในส่วนของค่าอะไหล่
“การแข่งขันในอุตสาหกรรมรถอีวีในจีนนั้นยังคงรุนแรง ไม่ว่าจะ BYD หรือ NETAขณะที่การพัฒนารถ EV ก็ยังไม่นิ่ง แถมมีนวัตกรรมใหม่ ออกมาอีก ดังนั้น เทรนด์การมาของรถ EV ยังเป็นความท้าทายในธุรกิจประกันวินาศภัย”
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม