> SET >

23 พฤษภาคม 2025 เวลา 09:26 น.

KTB-SCB ประเมินค่าเงินบาทวันนี้

#ทันหุ้น - นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.87 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ  32.84 บาทต่อดอลลาร์


โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.79-32.95 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่ในช่วงบ่ายวันก่อนหน้า เงินบาทได้ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

ตามการรีบาวด์สูงขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำ รวมถึงการส่งสัญญาณจากทางรัฐมนตรีฯ พาณิชย์ ที่อยากให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยดูแลให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสมอย่าง 36-37 บาทต่อดอลลาร์ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทก็ดูจำกัดลงแถวโซนแนวต้านแรก 32.95-33.00 บาทต่อดอลลาร์ แม้ว่าเงินบาทจะเผชิญแรงกดดันจากการรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งได้อานิสงส์จากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) เดือนพฤษภาคม ที่ล้วนออกมาดีกว่าคาด สวนทางกับรายงานดัชนี PMI จากฝั่งยุโรปที่ออกมาผสมผสาน ทว่า ราคาทองคำก็ยังคงสามารถทยอยรีบาวด์สูงขึ้นได้และช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ใกล้โซนแนวต้านดังกล่าว


บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว หลังสภาผู้แทนฯ ของสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างกฎหมายภาษีและงบประมาณรายจ่าย ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังมีความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ทว่ารายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการล่าสุดของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ก็พอช่วยพยุงบรรยากาศในตลาดการเงิน ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง -0.04%


ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลง -0.64% กดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -1.2% ตามแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวฝั่งยุโรป ที่สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวสหรัฐฯ จากความกังวลแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ นอกจากนี้ รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของยูโรโซน เดือนพฤษภาคม ก็ปรับตัวลดลงและแย่กว่าคาด กดดันบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นยุโรปเพิ่มเติม


ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่า สภาผู้แทนฯ ของสหรัฐฯ จะสามารถผ่านร่าง “Fiscal Bill” ได้สำเร็จ ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ ทว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงบอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 30 ปี ในช่วงที่ผ่านมา ยังคงสามารถดึงดูดความสนใจของผู้เล่นในตลาดได้บ้าง ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ สามารถทยอยย่อตัวลงบ้างจากโซนเหนือระดับ 4.60% สู่โซน 4.53% อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังเสี่ยงผันผวนสูงได้บ้าง หากผู้เล่นในตลาดมีความกังวลต่อแนวโน้มเสถียรภาพการคลังของสหรัฐฯ มากขึ้น ทว่า เราคงย้ำมุมมองเดิมว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ก็จะเปิดโอกาสในการทยอยเข้าซื้อสะสม (Buy on Dip) ได้


ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง หนุนโดยรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี การรีบาวด์ขึ้นของเงินดอลลาร์ก็เป็นไปอย่างจำกัด หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงมีความกังวลต่อเสถียรภาพการคลังของรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) รีบาวด์ขึ้นสู่โซน 99.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 99.6-100.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค. 2025) แม้จะเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง หลังราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นเหนือโซนแนวต้านระยะสั้นได้สำเร็จ ทว่า จังหวะการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงซื้อในจังหวะย่อตัวของผู้เล่นในตลาดก็พอช่วยหนุนให้ ราคาทองคำยังสามารถทรงตัวเหนือโซน 3,330 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้


สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของอังกฤษ ในเดือนเมษายน เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า BOE อาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ (โอกาส 60%)


ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ พร้อมทั้งรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังคงมั่นใจว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีนี้


และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น ผู้เล่นในตลาดจะติดตาม สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับบรรดาประเทศคู่ค้า


สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรายังคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways ไปก่อน ในช่วงโซน 32.55-33.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยราคาทองคำยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง Two-Way risk ที่อาจทำให้เงินบาทสามารถเคลื่อนไหวแข็งค่า หรือ อ่อนค่าลงได้ ตามทิศทางราคาทองคำ เนื่องจากราคาทองคำ ก็ยังมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways เช่นกัน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเราจะมั่นใจมากขึ้นว่า เงินบาทจะสามารถทยอยกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจนอีกครั้ง ตามการประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend Following


ทั้งนี้ แม้ว่า เงินบาทดูจะเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง จากถ้อยแถลงของรัฐมนตรีฯ พาณิชย์ ที่มองว่า ระดับค่าเงินบาทที่เหมาะสมคือช่วง 36-37 บาทต่อดอลลาร์  แต่เราขอเน้นย้ำว่า ประเด็นของค่าเงินนั้นจะมีทั้งผู้มีส่วนได้และส่วนเสีย (หากเงินบาทอ่อนค่าเกินไป ก็จะกระทบฝั่งผู้นำเข้า ซึ่งปัจจุบันก็เผชิญแรงกดดันจากภาวะการแข่งขันสูงของสินค้าราคาถูกจากจีน) ทำให้เรามองว่า การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมีความสำคัญที่สุด และไม่มีระดับค่าเงินที่เหมาะสมอย่างแท้จริง นอกเสียจากการประเมินในเชิง Valuation (อาทิ การประเมินด้วย BEER เป็นต้น) ซึ่งการเคลื่อนไหวของค่าเงินก็ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับ Valuation ได้ในบางช่วงเวลา


ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้


มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.75-33.00 บาท/ดอลลาร์

ด้านกลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-32.95 บาท/ดอลลาร์


เงินบาทอ่อนค่าลงตามดัชนีเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น หลังดัชนี Composite PMI สหรัฐฯ เดือนพฤษภาคม ออกมาที่ 52.1 สูงกว่าเดือนก่อนและที่ตลาดคาด จากทั้งภาคการผลิตและบริการที่ปรับดีขึ้น หลังความกังวลเรื่องภาษีเริ่มคลี่คลาย


ดัชนี Composite PMI ยุโรป เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 49.5 ปรับแย่ลงจากเดือนก่อน และแย่กว่าตลาดคาด จากภาคบริการเป็นหลัก


สหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายภาษีในสภาผู้แทนราษฎรสำเร็จ โดยลดเงินในโครงการประกันสุขภาพลง



รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ได้ทุกช่องทางเหล่านี้

Facebook คลิก https://www.facebook.com/thunhoonnews
Youtube คลิก https://www.youtube.com/c/ThunhoonOfficial
Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_/
จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X