21 พฤษภาคม 2025 เวลา 19:37 น.
#อเบอร์ดีน #ทันหุ้น - อเบอร์ดีน ย้ำปรับพอร์ตเก็บหุ้นคุณภาพ สามารถเข้าเก็บเกี่ยวปันผลได้ ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่นักลงทุนลดสัดส่วนลงทุนหุ้นสหรัฐมากขึ้น กระจายไป ยุโรป จีน ที่ภาครัฐออกมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง มองหุ้นสหรัฐลงต่อได้ แต่ต้องเลือกรายตัว และมีนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ที่เหนือคู่แข่ง ด้าน บลจ.ยูโอบีมอง ลดอันดับเครดิตสหรัฐ ดันต้นทุนทางการเงินสหรัฐขึ้น
นายแบลร์ คูเปอร์ Investment Director, Developed Market Equities อเบอร์ดีน แนะนำว่า นักลงทุนควรปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของตลาด ณ ปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายภาษีของทรัมป์ (Reciprocal Tariffs) ที่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน ว่าจะออกมาอย่างไรเพราะอยู่ในขั้นตอนการเจรจา และจากความไม่ชัดเจนดังกล่าวทำให้ตลาดไม่สามารถประเมินผลกระทบที่แท้จริงได้ จึงมีผลให้การลงทุน ณ ปัจจุบันผันผวนสูง
โยบายของทรัมป์วันนี้ยังเดินหน้าไม่ครบตามที่หาเสียงไว้ นั้นเป็นภาพที่สะท้อนว่าข้างหน้ายังมีความเสี่ยงและความผันผวนรออยู่ ทั้งจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่ง นายแบลร์ คูเปอร์ แนะนำว่านักลงทุนควรคัดหุ้นเป็นรายตัว เน้นหุ้นคุณภาพ (Quality) ที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง และสามารถจ่ายปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ แทนการลงทุนในหุ้นคุณค่า (Value) ที่ดูราคาถูก หรือแพง เพราะตามหลักแล้ว หุ้นคุณภาพ ก็จะมาคู่กับราคาที่สูง แต่ในภาวะที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูงหุ้น Qualityจะมีความทนทานต่อสภาวะดังกล่าวได้ดีกว่า
*ปรับพอร์ตเข้ายุโรป-จีน
“เรายังเริ่มเห็นสัญญาณการปรับพอร์ตของนักลงทุนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐมากขึ้น โดยกระจายไปลงทุนใน ยุโรป และประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) มากขึ้น โดยปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนโฟกัส ยามที่เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวคือนโยบายการเงิน การคลังของภาครัฐที่ออกมาทำหน้าที่กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเราเห็นภาพนี้ค่อนข้างชัดจาก จีน ยุโรป”
นายแบลร์ คูเปอร์ กล่าวว่า หุ้นสหรัฐช่วงที่ผ่านมาปรับขึ้นไปสูง ส่วนหนึ่งก็มาจากหุ้น 7 นางฟ้า (Magnificent 7) แต่ปัจจุบัน นักลงทุนเริ่มไม่ได้ให้น้ำหนักกับกลุ่มหุ้นดังกล่าวแล้ว และมีการปรับพอร์ตกระจายลงทุนไปใน ยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอินเดียมากขึ้น แต่ถามว่าหุ้นสหรัฐยังลงทุนได้ไหม อเบอร์ดีน ยังมองเห็นโอกาสอยู่ แต่เป็นกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ Magnificent 7
“เราเน้นคัดหุ้นรายตัว มีนวัตกรรมในผลิตภัณฑ์ บริการที่ต่างจากคู่แข่ง และอาจจะไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ แต่เมื่อลงทุนแล้วต้องสามารถเก็บเกี่ยวปันผลได้ ในภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวแต่เงินเฟ้อขึ้นสูง หรือที่เรียกว่า Stagflation อย่างไรก็ตาม อเบอร์ดีน ยังคงแนะนำให้กระจายลงทุน และปรับสัดส่วนพอร์ตให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันใน 3 เดือน หรือ 6 เดือนข้างหน้า และหุ้นสหรัฐก็ยังเป็นทางเลือกสำหรับการกระจายลงทุนในธีมหุ้นโลก แต่ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม”
*ลดเครดิตสหรัฐดันต้นทุน
ทางด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด รายงานว่าหุ้นสหรัฐฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยหากพิจารณาปัจจัยด้านเทคนิคจะเห็นแนวโน้มราคามีโอกาสที่จะกลับไปสู่จุดสูงสุดเดิมได้ ส่วนการที่สหรัฐถูกปรับลดอันดับเครดิตจากระดับสูงสุด Aaa ลงมาที่ Aa1 โดยมูดี้ส์ คาดว่าต้นทุนทางการเงินของสหรัฐทั้งภาครัฐ และเอกชนจะเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าอันดับ ความน่าเชื่อถือน่าจะยังไม่ถูกปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะที่ค่อนข้างสูง และการทำงบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่อง
ภาพรวมทำให้ตราสารหนี้คุณภาพดีสหรัฐที่ราคาไม่แพง และอายุของตราสาร (Duration) ไม่ยาวมาก คาดว่าจะมีความน่าสนใจ บนทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง ท่ามกลางแรงกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุยาวที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการคลัง และแรงกดดันด้านหนี้สาธารณะสหรัฐ
ยุโรปดัชนีสํารวจเศรษฐกิจ ZEW Survey เดือนพฤษภาคมดีกว่าคาดการณ์ที่ 11.6 (คาดการณ์-3.5) โดย GDP Q1/2568 เทียบรายปีออกมาตามคาดการณ์ที่ 1.2% รวมถึง ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมเทียบรายเดือนขยายตัวดีกว่าคาดที่ 2.6% (คาดการณ์ 1.8%) ส่วนญี่ปุ่น GDP Q1/2568 คํานวณเป็นรายปี ออกมาต่ำกว่าคาดที่ -0.7%(คาดการณ์-0.2%) แม้ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน มีนาคมเทียบรายเดือนจะขยายตัวกว่า คาด 0.2% (คาดการณ์ -1.1%)
ทางด้านจีนยอดสินเชื่อใหม่เดือนเมษายน ขยายตัวต่ำคาดที่ 280,000 ล้านหยวน (คาดการณ์ 700,000) ด้านปริมาณเงินในระบบ (Money Supply M2)เดือนเมษายนเทียบรายปี ขยายตัวดีกว่าคาดที่ 8% (คาดการณ์ 7.3%) ฮ่องกง GDP Q1/2568 เทียบรายปีออกมาตามคาดการณ์ที่ 3.1%
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม