> SET >

17 เมษายน 2025 เวลา 08:23 น.

ห่วงดอลลาร์สหรัฐ นักวิชาการเห็นพ้อง เร้าจัดทุนสำรองใหม่

#ทุนสำรอง #ทันหุ้น –  “นักวิชาการ-อดีตรัฐมนตรีคลัง-อ.ทวีสุข ธรรมศักดิ์” ประสานเสียงเร่งเร้า ธปท. จัดทุนสำรองใหม่ หลังทุนสำรองไทยมีสัดส่วนดอลลาร์มากถึง 80% หวั่นเจอความผันผวนของค่าเงิน แนะกระจายเข้าทองคำ และเงินต่างประเทศสกุลอื่น “อ.ทวีสุข” ชี้สหรัฐมีแนวโน้มกดค่าเงินดอลลาร์อ่อน


รศ.ดร.จุฑาทิพย์  จงวนิชย์  นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุกับ “ทันหุ้น” เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ซึ่ง ณ ปัจจุบันอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริการาว 80% ของวงเงินราว 8.17 ล้านล้านบาท ซึ่งอาจเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในอนาคต โดยเสนอแนะว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรการกระจายสัดส่วนการถือครอง (Diversify) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในสินทรัพย์ต่างๆ ให้มีความหลากหลายอาทิทองคำ, เงินตราต่างประเทศสกุลอื่นๆ อาทิ ปอนด์, หยวน ฯลฯ 


“ค่าเงินดอลลาร์เริ่มเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจสหรัฐ และการดำเนินนโยบายในอนาคต การกระจายเงินทุนสำรอง ไปยังสินทรัพย์อื่นๆ ก็มีความสำคัญ ธปท. น่าจะดำเนินการในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทองคำเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจในการเพิ่มสัดส่วนการถือครอง เนื่องจากราคามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการที่หลายประเทศเริ่มซื้อทองคำมาก และอาจเพิ่มได้ถึงประมาณ 10%”


รศ.ดร.จุฑาทิพย์  กล่าวว่า การที่ไทยมีสัดส่วนเงินทุนสำรอง ในระดับสูงมีส่วนช่วยให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติได้ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่นักลงทุนใช้ประเมินความเปราะบางของประเทศ การที่ไทยมีเงินทุนสำรอง ในระดับสูงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทย ในสายตานักลงทุนต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ ธปท. ควรบริหารจัดการเงินทุนสำรองให้เพิ่มมากขึ้น และมีการกระจายสัดส่วนการถือครอบสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน ธปท. ควรจะสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจถึงการบริหารจัดการและการจัดสรรเงินทุนสำรอง เพื่อให้ทราบถึงสถานะของประเทศ ความน่าเชื่อถือ และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน 


“การมีเงินทุนสำรองที่เข้มแข็งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศภายใต้ความไม่แน่นอนต่างๆ การมีเงินทุนสำรองที่เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ หากเกิดความไม่เชื่อมั่น และนักลงทุนต่างประเทศนำเงินทุนออกไปจำนวนมาก การมีเงินทุนสำรอง จะช่วยลดความผันผวนของค่าเงินบาทได้ ทั้งยังบ่งชี้ถึงความเข้มแข็งและเสถียรภาพ และสถานะการเงินของประเทศ ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นช่วยให้ประเทศสามารถผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจได้” 


@เชื่อมั่น ธปท. พิจารณาเหมาะสม


นายธีระชัย  ภูวนาถนรานุบาล  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยมีคณะกรรมการพิจารณาสัดส่วนการถือครองทรัพย์สินต่างๆ ทั้งสินทรัพย์เสี่ยง และสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึงเงินสกุลสำคัญ อาทิ ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา  ยูโร  เยน ฯลฯ มาอย่างต่อเนื่อง 


พร้อมกันนี้ได้กล่าวแสดงทรรศนะส่วนตัว ว่าคณะกรรมการ ควรจะบริหารเงินทุนสำรอง โดยกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ประเภทอื่นให้มากขึ้น โดยเฉพาะทองคำ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินในอนาคต


“โดยความเห็นส่วนตัว นั้น การถือทองคำนั้นดีกว่าดอลลาร์ ในระยะยาว เนื่องจากเงินดอลลาร์ มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเรื่องการพิมพ์เงินออกมามากเกินไป ซึ่งจะทำให้มูลค่าของดอลลาร์ลดลงเมื่อเทียบกับทรัพย์สินจริง เช่น ทองคำ หรือสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ”


@สหรัฐกดดอลล์อ่อนค่า


นายทวีสุข  ธรรมศักดิ์  ที่ปรึกษาด้านธุรกิจและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เปิดเผย “ทันหุ้น” ว่า นับเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจแต่น่าดีใจที่ คลังและ ธปท. จะมีการหารือเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งไทยมีสัดส่วนของการสำรองเงินดอลลาร์ไว้สูงมาก เป็นเรื่องที่เคยพูดมานานแล้ว โดยมองว่าสหรัฐต้องการที่จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า เพื่อลดการขาดดุลการค้าและล้างหนี้ ดังนั้นไทยก็ควรที่จะมีการกระจายสัดส่วนไปยัง ทองคำ และเงินสกุลคู่ค้าอื่นๆ

รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ได้ทุกช่องทางเหล่านี้

Facebook คลิก https://www.facebook.com/thunhoonnews
Youtube คลิก https://www.youtube.com/c/ThunhoonOfficial
Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_/
Telegram คลิก https://t.me/thunhoon_news
X คลิก https://twitter.com/thunhoon1
Instagram คลิก https://instagram.com/thunhoon.news?/


จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X