03 เมษายน 2025 เวลา 15:36 น.
#หุ้นสหรัฐ #ทันหุ้น - บทวิเคราะห์ โดย บล.เอเซียพลัส
.
ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดบวกในวันพุธที่ผ่านมา (S&P500 +0.67%, Dow Jones +0.56% และNasdaq +0.87%) อย่างไรก็ตาม หลังการแถลงแผนการปรับขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของประธานาธิบดีทรัมป์ในช่วงปิดตลาด ส่งผลให้หุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเป็นวงกว้างในช่วง After Hours โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงการนำเข้าและซัพพลายเชนจากเอเชีย อาทิ On Holding (-12.07%), Deckers (-11.85%) และ Lululemon (-11.5%) ในขณะที่ดัชนี S&P Futures ปรับตัวลดลงแรงกว่า 3% เช่นเดียวกับหุ้นเอเชียที่ปรับตัวลดลงในเช้านี้ อาทิ NIKKEI 225 (-3.2%) KOSPI (-1.7%) และ Hang Seng (-1.9%) เป็นต้น
.
-ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เผยแผนเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) โดยประกาศขึ้นภาษีขั้นต่ำ 10% ต่อสินค้านำเข้าทุกประเทศ และขึ้นภาษีเพิ่มเติมอีกกับราว 60 ประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ อาทิ จีนจะเผชิญภาษีนำเข้าสูงถึง 54% ส่วนเวียดนาม ไต้หวัน และอินเดียจะถูกเรียกเก็บภาษี 46%, 32% และ 26% ตามลำดับ ซึ่งภาษีชุดพื้นฐานจะเริ่มมีผลในวันเสาร์นี้ (5 เม.ย.) และภาษีเพิ่มเติมจะเริ่มวันที่ 9 เม.ย. นับเป็นการทวีความรุนแรงในสงครามการค้าอีกครั้ง และอาจจุดชนวนตอบโต้จากประเทศคู่ค้า โดยทรัมป์ประกาศว่าเป็นการคืนความยุติธรรมแก่แรงงานสหรัฐฯ และสร้างรายได้เพื่อหนุนแผนลดภาษีในประเทศ
-มาตรการดังกล่าวรุนแรงกว่าที่ตลาดคาด โดยนักกลยุทธ์และนักลงทุนส่วนใหญ่ตอบสนองต่อมาตรการภาษีของทรัมป์ด้วยความกังวลโดยมองว่าอัตราภาษี 20–34% จะกระทบต้นทุนและกำไรของบริษัทสหรัฐ โดยเฉพาะผู้ผลิตที่พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในเอเชีย (Michael O’Rourke, หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดจาก JonesTrading Institutional Services) ขณะที่ตลาดไม่มีสัญญาณผ่อนปรนก่อนประกาศจริง ทำให้ความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการกำไรเพิ่มขึ้น (Matt Maley, หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดจาก Miller Tabak + Co.) นักวิเคราะห์บางรายมองว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจาลดภาษีซึ่งอาจเปิดโอกาสให้ตลาดกลับมาฟื้นตัว (Chris Zaccarelli, ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนจาก Northlight Asset Management และ Steve Chiavarone, หัวหน้าฝ่าย Multi-Asset จาก Federated Hermes) อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเตือนว่าภาวะเศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากขึ้นจากแรงกดดันหลายทาง เช่น ภาษี (Priya Misra, ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอจาก JPMorgan Asset Management), การลดใช้จ่ายภาครัฐโดย DOGE และความไม่แน่นอนที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ (Ed AlHussainy, นักกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยจาก Columbia Threadneedle และ Max Gokhman, รองประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนจาก Franklin Templeton Investment Solutions) โดย Liz Ann Sonders (หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนจาก Charles Schwab) สรุปว่าแนวโน้มเศรษฐกิจอาจถูกประเมินว่าใกล้ถดถอยมากขึ้น และกำไรของบริษัทอาจถูกกดดันอย่างมีนัยสำคัญ
.
- รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าหลายรายการเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการระบุ “ข้อยกเว้น” สำหรับบางประเทศและบางกลุ่มสินค้า ซึ่งจะไม่ถูกจัดเก็บภาษีในรอบนี้ตามอัตราที่ประกาศใหม่ โดยเฉพาะแคนาดา, เม็กซิโก และสินค้าจากอุตสาหกรรมหลักที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของประเทศ
.
แคนาดาและเม็กซิโก เป็นสองประเทศที่ไม่ถูกจัดเก็บภาษีใหม่ตามมาตรการครั้งล่าสุด เนื่องจากทั้งสองประเทศมีภาษีนำเข้าอยู่ภายใต้กรอบข้อตกลงก่อนหน้านี้แล้ว การจัดเก็บภาษีสินค้าจากสองประเทศนี้จึงยังคงเป็นไปตามอัตราที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า ไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการใหม่ล่าสุดนี้
.
-นอกจากนี้ สินค้าจากกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญได้แก่ เหล็ก, อะลูมิเนียม, รถยนต์, ทองแดง, ยา, เซมิคอนดักเตอร์ และไม้แปรรูป ก็ถูกยกเว้นจากอัตราภาษีทั่วไปที่เพิ่งประกาศใหม่เช่นกัน โดย รัฐบาลระบุว่าสินค้าเหล่านี้จะถูกจัดเก็บภาษีตามอัตราเฉพาะ ซึ่งอาจเป็นอัตราที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้าแล้ว หรืออาจอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อประกาศอัตราใหม่ในเร็ว ๆ นี้โดยตรงจากประธานาธิบดี
.
-ฝ่ายกลยุทธ์ฯ มองว่าในช่วงที่ตลาดเผชิญแรงเทขายจากความตื่นตระหนกจากภาษีตอบโต้ทางการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะหากในระยะข้างหน้าประเทศอื่นๆ ออกมาตรการโต้ตอบกับสหรัฐฯ นักลงทุนควรลดน้ำหนักสินทรัพย์เสี่ยงและพิจารณาถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้นอาทิ ทองคำ ซึ่งมีลักษณะเป็นสินทรัพย์ที่เคลื่อนไหวสวนทางกับตลาดหุ้น และมักให้ผลตอบแทนที่ดีในภาวะวิกฤต ซึ่งในปัจจุบันตลาดมีความกังวลต่อการเร่งตัวของเงินเฟ้อขณะที่เศรษฐกิจชะลอลงและอาจเกิดภาวะถดถอย นอกจากนี้ การถือครองพันธบัตรรัฐบาลอายุปานกลางถึงยาวจะช่วยให้พอร์ตมีรายได้จากดอกเบี้ยที่มั่นคง และหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงจริง ราคาของพันธบัตรจะมีแนวโน้มปรับขึ้น (เนื่องจากอัตราผลตอบแทนหรือ yield ลดลง) อันเป็นผลบวกต่อผลตอบแทนรวมของนักลงทุน
.
-กลยุทธ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการรักษาสภาพคล่องบางส่วนไว้ในพอร์ตเพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดีในราคาที่น่าสนใจ หากราคาหุ้นปรับตัวลงมากเกินไปจากภาวะตลาดที่ตื่นตระหนก โดยเฉพาะในกลุ่มที่ถูกกดดันในระยะสั้น แต่มีศักยภาพในการฟื้นตัวหากมีสัญญาณการเจรจาหรือผ่อนคลายมาตรการทางการค้าในอนาคต นักลงทุนที่ถือเงินสดไว้พร้อมลงทุนในจังหวะดังกล่าวจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในระยะยาว
.
-ฝ่ายกลยุทธ์ฯ ยังคงเน้นการเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแรงและแนวโน้มกำไรที่ชัดเจนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดีกว่าอุตสาหกรรมอื่น เช่น กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) และการสื่อสาร (Communication Services) อย่างไรก็ตาม ด้วยความเปราะบางของตลาดที่อาจเกิดจากความตึงเครียดด้านการค้าและความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาล นักลงทุนควรเลือกลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีที่มีรายได้หลักจากตลาดในประเทศสหรัฐฯ เพื่อลดความเสี่ยงจากภาษีนำเข้า และหลีกเลี่ยงหุ้นที่มีการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ซึ่งอาจเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นภายใต้กรอบของมาตรการตอบโต
.
- ในขณะเดียวกัน กลุ่มหุ้นที่มีลักษณะเน้นพึ่งพารายได้ภายในประเทศเช่น กลุ่มการเงิน(Financials), สุขภาพ (Healthcare), การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary),การสื่อสาร (Communication Services) และสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น (Consumer Staples) มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าน้อยกว่ากลุ่มอื่น อีกทั้งยังมีโอกาสได้รับประโยชน์ทางอ้อมจากแผนการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคล ซึ่งช่วยเสริมความสามารถในการทำกำไรและความแข็งแกร่งของงบดุลในระยะถัดไป
.
ขณะที่กลุ่ม Defensive อย่างสุขภาพและสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น จะสามารถลดความผันผวนของพอร์ตในภาวะตลาดที่ไม่แน่นอนได้ดี โดยเฉพาะเมื่อบริษัทในกลุ่มนี้มีความสามารถในการกำหนดราคาสินค้า (Pricing Power) อยู่ในระดับสูง สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าสู่ราคาขายโดยไม่กระทบฐานลูกค้าอย่างมีนัยสำคัญ นับเป็นเกราะป้องกัน margin และกำไรในภาวะที่ต้นทุนผันผวนจากมาตรการการค้า
.
-ทั้งนี้ ฝ่ายกลยุทธ์ฯ ประเมินเป้าหมายของดัชนี S&P 500 จากมุมมองพื้นฐาน โดยอิงจากประมาณการกำไรสุทธิต่อหุ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้าจากที่ Bloomberg Consensus รวบรวมไว้ที่ $278.44 ปรับลดด้วยคาดการณ์จาก Goldman Sachs ที่ประเมินว่าทุกๆ ภาษีที่เพิ่มขึ้น5% จะกระทบกับ EPS ของ S&P 500 1-2% ซึ่งทาง Fitch Rating คาดว่าภาษีนำเข้าทั้งหมดจะเพิ่มมาอยู่ที่ราว 22% จาก 2.5% ในปี 2024 ซึ่งจะส่งผลต่อ EPS ที่จะลดลง 3.9-7.8% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของ Forward P/E ในช่วง 5 ปีที่ 20.01 เท่า แนวรับจะอยู่ในช่วง 5,140-5,350 จุด และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของ Forward P/E ในช่วง 10 ปีที่ 18.53 เท่า แนวรับจะอยู่ในช่วง 4,760-4,960 จุด ส่วนแนวรับทางเทคนิคใกล้สุดอยู่ที่บริเวณ 5,400 จุด และ5,170 จุด ตามลำดับ
.
-นอกจากนี้ สหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 เมษายน และเริ่มเก็บภาษีจริงในวันที่ 3 เมษายนเป็นต้นไป
.
- สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯคาดว่าจะได้รับผลกระทบมากในกลุ่มบริษัทที่พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากต่างประเทศสูงเมื่อเทียบกับรายได้รวมในประเทศ โดย General Motors (GM US)มีการนำเข้ารถยนต์ประมาณ 50% ตามมาด้วย Ford (F US) ประมาณ 20% ขณะที่ Teslaได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากมีฐานการผลิตหลักอยู่ในสหรัฐฯ
.
-ด้านผู้ผลิตรถยนต์ยุโรปที่มีความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้จากตลาดสหรัฐฯ และพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากนอกสหรัฐฯสูง ได้แก่ Stellantis (STLAM IM, STLA US), Porsche AG (P911 GR) และ Volvo Car (VOLCARV SS) อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกลยุทธ์ฯ มองบวกต่อ Ferrari (RACE IM, RACE US) เนื่องจากบริษัทยังยืนยันเป้าหมายทางการเงินปี 2025 ไว้ตามเดิม แม้ต้องเผชิญกับภาระภาษีทางการค้า และคาดว่าบริษัทสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผ่านการปรับราคาขายบางรุ่นไม่เกิน 10% โดยไม่กระทบต่อกลุ่มลูกค้าหลักซึ่งเป็นผู้บริโภคที่มีฐานะมั่งคั่งสูงในสหรัฐฯ
.
-นอกจากนี้ การปรับขึ้นภาษีดังกล่าวอาจทำให้ราคาขายรถยนต์ใหม่สูงขึ้นซึ่งอาจเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกซ่อมบำรุงรถเก่าแทนการซื้อใหม่ และแม้จะมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะขยายขอบเขตการเก็บภาษีไปยังชิ้นส่วนยานยนต์ที่หลากหลายมากขึ้นในอนาคต แต่เมื่อเทียบกับต้นทุนในการเปลี่ยนรถยนต์ใหม่แล้ว ยังถือว่าเป็นต้นทุนที่ต่ำกว่า ฝ่ายกลยุทธ์ฯ จึงมองว่าผู้ค้าปลีกชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อการซ่อมบำรุงรายใหญ่ในสหรัฐฯ อย่าง O’Reilly (ORLY US) และAutoZone (AZO US) อาจจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มดังกล่าว
.
ฝ่ายกลยุทธ์ฯ ยังคงแนะนำลงทุนใน BYD (1211 HK) ซึ่งเป็นตัวเลือกที่มั่นคงในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า จากความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี แบตเตอรี่ และแพลตฟอร์ม EV พร้อมกับระดับ Valuation ที่ยังอยู่ในเกณฑ์น่าสนใจเมื่อเทียบกับศักยภาพการเติบโตของรายได้และกำไรสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง แนะนำเก็งกำไรตามแนวรับใน Xpeng (XPEV US, 9868 HK) ที่มีจุดแข็งด้านเทคโนโลยีขับขี่อัจฉริยะ (ADAS) และระบบ Autonomous Driving พร้อมแรงหนุนจากรถรุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์กลุ่ม SUV และตลาด EV ระดับกลาง แม้จะบริษัทจะยังไม่สามารถทำกำไรได้ชัดเจน แต่ศักยภาพเชิงเทคโนโลยีอาจเปิดโอกาสใหม่ให้บริษัทในอนาคต
.
- ส่วน Xiaomi (1810HK) แนะนำหาจังหวะเก็งกำไรตามแนวรับอย่างระมัดระวัง เนื่องจากยังเผชิญแรงกดดันจากเหตุการณ์อุบัติเหตุของ SU7 ที่เกี่ยวข้องกับระบบ ADAS ซึ่งอาจกระทบต่อแบรนด์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะสั้น อีกทั้ง Valuation ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวบริษัทยังมีแรงหนุนจากธุรกิจสมาร์ทโฟนและ AIoT รวมถึง Smart EV ที่เป็นปัจจัยเร่งการเติบโตในอนาคต ความเสี่ยงที่ต้องระวัง 1) การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น 2) ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น 3) ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว 4) การเพิ่มความเข้มงวดของกฎระเบียบ
.
- Tesla (TSLA US) เผยยอดส่งมอบไตรมาส 1/2025 ลดลงถึง 13% YoY เหลือเพียง 336,681คัน ต่ำสุดนับตั้งแต่ Q2/2022 และต่ำกว่าคาดถึง 13.6% โดยสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนสายการผลิตเพื่อรองรับ Model Y รุ่นใหม่ และแรงต้านต่อ Elon Musk ที่รุนแรงขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป ขณะที่ยอดผลิตรวมลดลง 16% YoY เหลือ 362,615 คัน กลุ่ม Model 3/Y มียอดส่งมอบ 323,800 คัน (-12%YoY) และกลุ่มรุ่นอื่น (Cybertruck, Model S/X) ลดลงหนัก -46% QoQ เหลือเพียง 12,881 คัน ทั้งนี้ ความเห็นทางการเมืองของ Musk ในหลายประเด็น เช่น การสนับสนุน Trump และวิจารณ์ NATO ได้สร้างแรงต้านต่อแบรนด์ในภูมิภาคที่อ่อนไหวต่อภาพลักษณ์ จนเริ่มส่งผลกระทบต่อยอดขายอย่างมีนัยสำคัญ
.
-ฝ่ายกลยุทธ์ฯ มองว่า Tesla กำลังเผชิญแรงกดดันในระยะสั้น โดยเฉพาะยอดขายในไตรมาสล่าสุดที่ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบของการปรับกระบวนการผลิตสำหรับ Model Y รุ่นใหม่ ขณะที่คู่แข่งจากจีนและยุโรปกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาภาพลักษณ์จากการแสดงออกทางการเมืองของ Elon Musk ก็กลายเป็นอุปสรรคเพิ่มเติมที่กดดันแบรนด์อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความผันผวนได้สูง หุ้นยังอาจน่าสนใจในเชิงเก็งกำไรระยะสั้น เนื่องจากยังมีปัจจัยบวกในเชิง Sentiment ที่รออยู่ เช่น การส่งมอบ Model Y รุ่นปรับปรุงใหม่ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างรถราคาประหยัด Robo-taxi หรือระบบขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ (FSD) รวมถึงการประกาศความคืบหน้าในการผลิตหุ่นยนต์ Optimus ซึ่งอาจช่วยดึงดูดความสนใจของตลาดและกระตุ้นราคาหุ้นได้ในระยะสั้น
.
- ในทางกลับกัน สำหรับนักลงทุนระยะยาว เรายังคงมีมุมมองเป็นกลาง เนื่องจากระดับValuation ปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง และสะท้อนความคาดหวังต่อการเติบโตในอนาคตไว้ค่อนข้างมาก หากบริษัทไม่สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์หรือรักษาการเติบโตได้ตามเป้าหมายหุ้นอาจเผชิญแรงกดดันจากการถูกปรับลด Valuation ลง จึงแนะนำให้ใช้ความระมัดระวังในการลงทุน
ความเสี่ยงที่ต้องระวัง 1) การแข่งขันที่สูงขึ้น 2) ความเสี่ยงภาษีทางการค้า 3) Valuation ที่อยู่ในระดับสูง 4) ความไม่แน่นอนของธุรกิจใหม่ ที่อาจยังไม่สามารถสร้างรายได้ในทันที
.
สหรัฐฯ รายงานตัวเลขจ้างงานภาคเอกชน ADP เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 1.55แสนตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาดและเดือนก่อนที่ 1.2แสนตำแหน่ง และ 8.4 หมื่นตำแหน่ง ตามลำดับ โดยหลักมาจากภาคบริการที่มีการจ้างงานเพิ่ม 1.3 แสนตำแหน่ง โดยเฉพาะด้านสุขภาพ การค้า และการศึกษา ในขณะที่ภาคสินค้า (Goods-producing) เพิ่มขึ้น 2.4 หมื่นตำแหน่ง โดยเฉพาะภาคการผลิต (Manufacturing) ที่เพิ่มขึ้นมากสุดนับตั้งแต่ ต.ค. 2022 ทั้งนี้ ในมิติการจ้างงานตลาดยังคงจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร(Non-Farm Payrolls)จากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ วันศุกร์นี้ โดยตลาดคาดที่1.4 แสนตำแหน่ง (vs. 1.51 แสนตำแหน่ง เดือนก่อน) และอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนที่ 4.1%
.
-ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมประกาศแผนตั้งบริษัท “TikTok America” เพื่อหลีกเลี่ยงการแบน TikTok ในสหรัฐฯ โดยโครงสร้างใหม่จะให้นักลงทุนสหรัฐฯ ถือหุ้นราว 50% ขณะที่ ByteDance เหลือถือเพียง 19.9% ซึ่งอยู่ใต้เกณฑ์ตามกฎหมายปี 2024 ที่กำหนดให้ TikTok ต้องแยกตัวจากบริษัทแม่ในจีนหรือถูกแบน ข้อเสนอนี้ยังให้ TikTok America เช่าใช้ Algorithm จาก ByteDance ทำให้ทรัมป์สามารถพิจารณาว่าเป็นการ Divest ที่เพียงพอต่อกฎหมายที่บังคับใช้ โดยโครงสร้างใหม่นี้ยังไม่ชัดเจนว่าได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลจีนหรือไม่ และยังไม่สรุปชื่อนักลงทุนใหม่ที่จะเข้าร่วมดีล ขณะที่ Amazon ถูกเผยว่ายื่นข้อเสนอซื้อกิจการ TikTok US แบบเร่งด่วน แต่ไม่ถูกมองว่าเป็นตัวเลือกหลัก ทั้งนี้ ทรัมป์คาดว่าจะให้กรอบเวลาอีก 90–120 วันนับจากวันนี้ในการปิดดีลก่อนบังคับใช้กฎหมาย
.
-ติดตามรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในวันนี้: ยุโรป PPI เดือน ก.พ. (ตลาดคาด +3.0% YoY vs. เดือนก่อน +1.8%) สหรัฐฯ ISM Services เดือน มี.ค. (ตลาดคาด 52.9 จุด vs. เดือนก่อน 53.5 จุด) และ Initial Jobless Claims (ตลาดคาด 2.25 แสนราย vs. สัปดาห์ก่อน 2.24แสนราย)
รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ได้ทุกช่องทางเหล่านี้
Facebook คลิก https://www.facebook.com/thunhoonnews
Youtube คลิก https://www.youtube.com/c/ThunhoonOfficial
Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_/
Telegram คลิก https://t.me/thunhoon_news
X คลิก https://twitter.com/thunhoon1
Instagram คลิก https://instagram.com/thunhoon.news?/
เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา อ่านเพิ่มเติม