> ประกัน >

21 ตุลาคม 2024 เวลา 12:53 น.

ส.ประกันชีวิตแนะวางแผนภาษี เวนคืนกรมธรรม์เสียผลประโยชน์

#สมาคมประกันชีวิต #ทันหุ้น - สมาคมประกันชีวิตไทยเชิญชวนประชาชนวางแผนลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านผลิตภัณฑ์ ประกันชีวิตที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทั้งในเรื่องให้ความคุ้มครอง และการออมเงินอย่างมีวินัย ตลอดจนการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนที่แน่นอน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ในเรื่องการลดหย่อนภาษีได้เป็นอย่างดี


นายพิชา  สิริโยธิน  ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สำหรับประชาชนที่กำลังวางแผนภาษีและกำลังมองหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มาตอบโจทย์เรื่องการลดหย่อนภาษี สมาคมประกันชีวิตไทยขอแนะนำ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันแบบบำนาญจะทำให้ท่านมีทั้งเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงิน เป็นทั้งการออมและมีความคุ้มครองทั้งชีวิตและสุขภาพในเวลาเดียวกัน ถือเป็นการปูรากฐานให้กับชีวิตเพื่ออนาคตที่มั่นคง


รวมทั้งยังสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระในรอบปีสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีกำหนดระยะเวลาคุ้มครอง ตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป หากมีการจ่ายเงินคืนระหว่างสัญญา เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี โดยสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระมาลดหย่อนภาษีเงินได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และสำหรับประกันภัยสุขภาพยังสามารถนำเบี้ยประกันภัยสุขภาพตามจำนวนที่จ่ายจริงมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับ


เบี้ยประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนประกันชีวิตแบบบำนาญสามารถนำเบี้ยประกันชีวิตที่ชำระไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 200,000 บาท โดยต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี


อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป สามารถใช้สิทธิลดหย่อนประกันชีวิตแบบบำนาญได้สูงสุด 300,000 บาท โดยเงินจำนวนนี้เมื่อนำไปรวมกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) / กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เมื่อรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ ประกันสุขภาพบิดา-มารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรส หักค่าลดหย่อนเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท


ทั้งนี้บิดา-มารดาของผู้มีเงินได้และคู่สมรสต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เกิน 30,000 บาทต่อปี โดยเงื่อนไขการหักลดหย่อนภาษีจะต้องเป็นไปตามประกาศกรมสรรพากร


สำหรับประชาชนตัดสินใจทำประกันชีวิต ประกันบำนาญ และประกันสุขภาพ โปรดอย่าลืมแจ้งความประสงค์ในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตไปยังบริษัทประกันชีวิต เพื่อเป็นการแสดงความยินยอม (Consent) ให้บริษัทนำส่งข้อมูลการชำระเบี้ยประกันชีวิตให้กับกรมสรรพากรตามแนวทางที่กรมสรรพากรกำหนด มิเช่นนั้นผู้เอาประกันภัยจะไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันชีวิตฉบับนั้นได้


*เวนคืนก่อนผิดเงื่อนไข

สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไปแล้ว หากมีการยกเลิกหรือเวนคืนกรมธรรม์ที่ใช้ลดหย่อนภาษีก่อนเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด จะถือว่า ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตไปแล้ว รวมถึงเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องจ่ายให้กับกรมสรรพากร ผู้อำนวยการบริหารสมาคม กล่าวเพิ่มเติม


สำหรับแผนประกันชีวิตสำหรับลดหย่อนภาษีปลายปีมีหลายแบบ และหนึ่งในแผนที่ได้รับความนิยมคือประกันสะสมทรัพย์ ซึ่งปีนี้บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งมีการนำเสนอ อย่าง บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต หรือ BLA แนะนำ “บีแอลเอ ฟาสต์ รีเทิร์น 10/2” จ่ายเบี้ย 2 ปีคุ้มครองยาว 10 ปี


บมจ.โตเกียวมารีน ประกันชีวิต แนะนำ “โตเกียว ซูเปอร์แทกซ์” มี 3 แผน แบบจ่ายเบี้ย 2 ปี 6 ปี และ 10 ปีให้ความคุ้มครอง 10 ปีบมจ.ไทยประกันชีวิต กับแผน “ทีแอล มันนี่ฟิต เวลท์ตี้ 10/5” จ่ายเบี้ย 5 ปีคุ้ทมครอง 10 ปี นอกเหนือจากประกันสะสมทรัพย์สั้นๆ ก็ยังมีระยะยาว เน้นคุ้มครอง รวมถึงแผนบำนาญ อย่าง บมจ.กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ชู 3 แผน ไลฟ์ดเรดี้ เน้นคุ้มครองยาวถึง 99 ปี, ไอสมาร์ท 80/6 จ่ายเบี้ย 6 ปี คุ้มครองถึง 80 ปี และบำนาญเรดี้

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X