> เคล็ดลับลงทุน >

25 กันยายน 2023 เวลา 23:18 น.

ภาษี! การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ

#Investment-Focus by KTAM #ทันหุ้น - แนวทางการเสียภาษีของบุคคล จากการนำเงินรายได้จากต่างประเทศกลับเข้าประเทศไทย จะเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่การประเมินรายได้ของปี 2567 จากคำสั่งของสรรพากร เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 เรื่องการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งในประกาศนี้ตาม ข้อ 2 คือ “บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือ หรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับ คำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก” ทำให้สิ่งที่เข้าใจกันและดำเนินกันมาตามกันมาก่อนหน้านี้ ที่ขอให้ถือข้ามปีภาษีแล้วจะได้รับยกเว้นนั้น แนวทางนี้จะหมดไป


สิ่งที่ดูเหมือนคนจะกังวลและพูดถึงกันมากที่สุด คือ การลงทุนในต่างประเทศ จากที่ได้มีการพยายามให้คนไทยไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศ และที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับเพิ่มมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา 


แต่เมื่อกฎระเบียบทางภาษีนี้มีการเปลี่ยนแปลง รูปแบบหรือการลงทุนที่นักลงทุนต้องการจะมีการกระจายการลงทุนในต่างประเทศ อาจจะต้องมีข้อจำกัด หรือทางเลือกลดลงไม่มากก็น้อย ส่วนที่ไปลงทุนที่ผ่านมาเราก็อาจจะพบว่า นักลงทุนบางส่วนก็เริ่มที่ความคิดที่จะทยอยเอาเงินกลับเข้ามาก่อนที่จะเริ่มประเมินภาษีปี 2567 กันก่อน


แต่ในส่วนการรับรู้รายได้จากวิธีอื่นในต่างประเทศ อาจจะมีความไม่แน่ชัดหรืออาจจะต้องรอรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ในกรณีคนไทยได้ไปทำประกันในต่างประเทศ และได้รับเบี้ยประกันภัยกลับมา จะถือว่าต้องรวมรายได้หรือไม่ รวมถึงวิธีการ ขั้นตอนการแจกแจงในการนำเงินกับเข้ามาจากการลงทุน และได้มีการเสียภาษีมาจากประเทศต้นทางแล้ว จะมีวิธีการและขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนในการเสียภาษีกับกลุ่มประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน


ซึ่งน่าจะเป็นงานหนักทั้งของนักลงทุนและสรรพากรที่จะต้องรีบเร่งกำหนดหลักการและระบบงานเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้คนดำเนินการได้ถูกต้อง


ดังนั้น ทางเลือกการลงทุนเพื่อทดแทนการลงทุนตรงในต่างประเทศ หลังจากที่จะมีการเรียกเก็บภาษีรายได้บุคคลจากแหล่งรายได้นอกประเทศ ผลิตภัณฑ์การลงทุนในประเทศที่ยังได้รับการยกเว้นภาษี หรือที่ทำให้สามารถเข้าถึงการลงทุนในหลักทรัพย์ หรือมีส่วนสร้างโอกาสการลงทุนในต่างประเทศได้ ก็มีทางเลือกอยู่ เช่น


  1. กองทุนรวมประเภท FIF  
  2. กองทุนอีทีเอฟต่างประเทศ 
  3. ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR, DRx) 
  4. ตราสารทางการเงินอื่นๆ ที่แสดงสิทธิ์ที่อ้างอิงการถือครองในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ที่ผู้ออกจดทะเบียนในประเทศ 

ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นทางเลือกเพื่อให้นักลงทุนเข้าถึงและกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้ไม่แพ้กับการที่จะไปลงทุนตรงในต่างประเทศ รวมถึงปัจจุบันความหลากหลายทั้งในแง่สินทรัพย์ของกองทุนประเภท กองทุน FIF ในไทยปัจจุบันเรียกได้ว่ามีครบทุกสินทรัพย์ที่ต้องการจะลงทุน และยังมีให้เลือกในรูปแบบ ทั้งป้องกันความเสี่ยง และไม่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้นักลงทุนเลือกได้ตามจังหวะสถานการณ์นั้นๆ ได้อีกด้วย 


อีกทั้งการเข้าถึงจากจำนวนเงินลงทุนที่น้อยกว่าที่จะไปลงทุนต่างประเทศตรง ยังสามารถช่วยประหยัดค่าการทำรายการได้มากกว่า รวมถึงกองทุนอีทีเอฟต่างประเทศ DR และ DRx ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสและทางเลือกเพื่อการลงทุนทดแทนของนักลงทุนได้เช่นกัน


สิ่งที่เราสามารถคาดหวังได้ว่าสถาบันการเงินประเภทต่างๆ คงเตรียมคิดผลิตภัณฑ์การลงทุน และออกเสนอขายตราสารผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์การลงทุนในต่างประเทศ เพื่อโอกาสของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สัมพันธ์กับการลงทุนในต่างประเทศในไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก


ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการรองรับเงินลงทุนที่กังวลทางด้านภาษีที่อาจจะทยอยกลับมา รวมถึงเงินลงทุนใหม่ๆ ที่คาดว่าไปจะลงทุนในต่างประเทศ และเกิดเจอกฎเกณฑ์ภาษี ก็อาจจะเปลี่ยนใจหันกลับมาลงทุนในประเทศอีกครั้ง ซึ่งจะทำให้เราน่าจะเห็นกองทุนอีทีเอฟต่างประเทศ DR และ DRx ที่อ้างอิงหลักทรัพย์ต่างประเทศทยอยออกมาเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับเงินลงทุนดังกล่าว


รวมถึงเราอาจจะเห็นการนำหลักทรัพย์ต่างประเทศ มาจดทะเบียนในไทยเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุนในไทยก็เป็นได้ หรือแม้กระทั่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างประเทศ ก็อาจจะนำกองทุนมาจดทะเบียนในเมืองไทยและนำเสนอขายตรงในประเทศ เป็นต้นเพราะหากเราไปดูยอดเงินลงทุนไปต่างประเทศโดยตรง ยอดสะสมก็ไม่น้อยเลยทีเดียว 


หากพูดถึงผลดี ผลเสีย ผลกระทบกับมาตรการภาษีที่เกิดขึ้น คงตอบยาก ณ เวลานี้ว่าจะส่งผลดีหรือผลเสียกับใคร อย่างไรบ้าง เพราะคนที่เสียประโยชน์ก็จะรู้สึกหงุดหงิดกับมาตรการนี้ ผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสียก็อาจจะมองว่าดีที่ได้มีการเก็บภาษีที่จะมากขึ้นและเกิดความเท่าเทียมเพิ่มมากขึ้น และเป็นการอุดช่องโหว่ ในหลายๆ ประเด็นที่ผ่านมาในอดีต


อย่างไรก็ตาม ขอให้เราอย่ามองแค่เรื่องของนักลงทุน เพราะเหตุการณ์นี้ยังคงต้องพิจารณาถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาพำนักในไทยแต่ทำงานจากต่างประเทศ และเอาเงินเข้ามาใช้จ่ายในไทยตอนอยู่ไทย


อย่าลืมว่าโลกเราเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่มักจะ Work form Everywhere กัน ส่วนแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศและนำเงินกลับประเทศ จะสามารถทำความเข้าใจในประเด็นภาษีนี้ได้มากน้อยแค่ไหม สถาบันการเงินจะต้องทำการติดตาม รวบรวมข้อมูลและทำการจดแจ้งต่อหน่วยงานรัฐ เพื่อนำไปตรวจสอบภาษีหรือไม่อย่างไร


ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องติดตามอีกมาก ทั้งหมดนี้สิ่งสำคัญที่เราต้องเตรียมตัว คือ ศึกษา และรวบรวมข้อมูลทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ เพื่อเตรียมเอกสารหากต้องนำเอากลับมาไทย และทางเลือกในการลงทุนที่เกี่ยวกับต่างประเทศในไทย ไว้ล่วงหน้ากันก่อนดีกว่า


โดยสามารถศึกษาเบื้องต้นได้จากรายละเอียดตามนี้



คอลัมน์: Investment-Focus by KTAM

โดย : ชัชพล สีวลีพันธ์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ บลจ. กรุงไทย

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X