> Digital Coin >

28 มิถุนายน 2022 เวลา 11:34 น.

"คริปโตเคอร์เรนซี" ดาบแสนคม

#คริปโตเคอร์เรนซี  #ทันหุ้น - คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยี “บล็อกเชน” (ฺBlockchain Technology) ในการ “บันทึก” ข้อมูลธุรกรรม (Transaction Data) ทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่ปฏิวัติการบันทึกข้อมูลแบบเดิมๆ จากการอาศัย “คนกลางที่มีความน่าเชื่อถือ” ในการบันทึกข้อมูลแต่ละชุดข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน สู่การบันทึกข้อมูลรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องอาศัยคนกลางแบบเดิมๆที่อาจจะ “ไว้ใจไม่ได้” แต่อาศัยตัวกลางที่เป็นระบบเครือข่าย (Network System)ที่เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์จากผู้คนทั่วทั้งโลกในการบันทึกข้อมูล โดยทุกชุดข้อมูลจะถูกสร้างความสัมพันธ์ให้เชื่อมโยงกัน (โดยการสร้างลายเซ็นดิจิทัล) เสมือนการสร้าง “ห่วงโซ่” ที่ผูกทุกชุดข้อมูลเอาไว้อย่างแน่นหนาเพื่อทำให้ชุดข้อมูลเหล่านี้กลายเป็นชุดข้อมูลที่ “แข็งแกร่ง” ที่ทุกคนในโลกเชื่อถือได้อย่างสมบูรณ์


ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และเทคโนโลยีบล็อกเชนได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วทั้งโลกให้ความสนใจและกำลังหาทางในการประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าให้กับตนเอง องค์กร และสังคม อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีทุกเทคโนโลยีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เปรียบเสมือนมีดหรือดาบที่สามารถใช้ในการตัดสิ่งของต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถบาดมือและสร้างบาดแผลให้กับผู้ใช้ที่ไม่ระมัดระวังได้ ดังเช่นในคำสุภาษิตไทยคำว่า “ดาบสองคม”


แต่สำหรับคริปโตเคอร์เรนซีนั้น ผู้เขียนคิดว่าคำว่า “ดาบสองคม”น่าจะยังไม่เหมาะสมและไม่เพียงพอที่จะสะท้อนถึงลักษณะของข้อดีและข้อเสียที่แท้จริงของคริปโตเคอร์เรนซีได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงขอเสนอการใช้คำว่า “ดาบแสนคม” ในการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของคริปโตเคอร์เรนซี โดยผู้เขียนต้องการที่จะสื่อให้เห็นว่าคริปโตเคอร์เรนซีนั้น ถึงแม้จะมีประโยชน์ในด้านต่างๆ อยู่หลายด้าน แต่ถ้าถูกใช้อย่างไม่ระมัดระวังหรือไม่ถูกต้อง ก็สามารถสร้างผลเสียอย่างรุนแรงในรูปแบบที่หลายคนอาจจะไม่ได้ตระหนักมาก่อน เปรียบเสมือนดาบที่มีความ “คมกริบ” ที่ผู้ใช้จะต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญอย่างแท้จริงเท่านั้นถึงจะควรใช้ดาบเล่มนี้


ประโยชน์ “จริง ๆ” ของคริปโตเคอร์เรนซีในปัจจุบัน (และอีกหลายปีในอนาคต)


มีบทความมากมายที่กล่าวถึงคริปโตเคอร์เรนซีโดยเฉพาะในด้านประโยชน์ของคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งประโยชน์ของคริปโตเคอร์เรนซีที่ถูกพูดถึงค่อนข้างมากได้แก่ ความปลอดภัยในการทำธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีความปลอดภัยสูง ความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากสามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำโดยอัตโนมัติได้ วันละ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ และค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่จะถูกลงเนื่องจากไม่ต้องทำผ่านสถาบันทางการเงินที่อาจจะคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูง (เพราะสถาบันทางการเงินเองก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องจ่ายอยู่มาก เช่น เงินเดือนพนักงาน และค่าเช่าสำนักงาน) ทำให้คนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้เนื่องจากค่าธรรมเนียมมีอัตราสูงสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น นอกจากนี้ประโยชน์อีกประการหนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมาก “ต้องเล่นคริปโตฯ” คือโอกาสในการได้รับผลตอบแทนในการลงทุนในระดับสูงเพราะเชื่อว่าคริปโตเคอร์เรนซีคือสกุลเงินแห่งอนาคตที่อาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตเช่นกัน


แต่ถ้าหากพิจารณาดูให้ดี ประโยชน์ที่กล่าวข้างต้นไม่ใช่ประโยชน์ “จริงๆ” ของคริปโตเคอร์เรนซีโดยเฉพาะประโยชน์ในปัจจุบัน(และอีกหลายปีในอนาคต) ที่คนๆหนึ่ง หรือองค์กรหนึ่งๆ ควรหันมาใช้หรือถือครองคริปโตเคอร์เรนซี เพราะในปัจจุบันธุรกรรมทางการเงินที่ทำผ่านสถาบันทางการเงินก็มีความปลอดภัยในระดับที่สูงมาก แถมยังต้องได้รับการกำกับดูแลจากหน่วยงานตรวจสอบของภาครัฐ ในทางกลับกันธุรกรรมทางการเงินที่ใช้คริปโตเคอร์เรนซีนั้นแทบจะตรวจสอบไม่ได้เลย ซึ่งในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้คริปโตเคอร์เรนซี เช่น เหตุการณ์การโจรกรรมคริปโตเคอร์เรนซีครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นกับ Mt. Goxซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีที่เคยมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก นอกจากนี้ความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสถาบันทางการเงินที่ใช้ระบบ Mobile Banking ก็มีความสะดวกรวดเร็วในระดับที่สูงมาก ซึ่งค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมหลายประเภทนั้นแทบจะไม่มีค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว เช่น การโอนเงินระหว่างบุคคล หรือการจ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆผ่าน QR Code หรือ ระบบ Online Payment


ส่วนประโยชน์ในด้านการลงทุนนั้น คริปโตเคอร์เรนซีไม่ใช่เครื่องมือสำหรับการ “รวยทางลัด”หรือ “รวยเร็ว”จากการได้รับผลตอบแทนในระดับสูง เพราะผลตอบแทนของคริปโตเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูงมากและไม่มีอะไรมายืนยันหรือรองรับว่าราคาของคริปโตเคอร์เรนซีนในแต่ละตัวนั้นจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอดไป อันที่จริงประโยชน์ในด้านการลงทุนของคริปโตเคอร์เรนซีที่พอจะมีความน่าเชื่อถืออยู่บ้าง คือประโยชน์ในด้านการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน โดยมีงานวิจัยชั้นนำหลายชิ้นพบว่าคริปโตเคอร์เรนซีสามารถช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนได้ เช่น งานวิจัยของ Akhtaruzzaman และคณะ (2020) ที่ศึกษาข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2011 ถึง 2018 และพบว่า Bitcoin สามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนที่ลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและดัชนีหุ้นกู้ได้เพราะราคาของ Bitcoin ไม่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสินทรัพย์อื่นอย่างสมบูรณ์


งานวิจัยของ Urquhart และ Zhang (2019) พบว่า Bitcoin สามารถช่วยป้องกัน (Hedge) และช่วยกระจายความเสี่ยง (Diversify)ในการซื้อขายระหว่างวันในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ Bouriและคณะ (2020) ยังพบอีกว่านอกจาก Bitcoin แล้วยังมี Ethereum และ Litecoin ที่มีคุณลักษณะของการป้องกันความเสี่ยงสำหรับการลงทุนในหุ้นสามัญในตลาดเอเซียแปซิฟิกและญี่ปุ่นได้


อย่างไรก็ดี Goodell และ Goutte (2021) กลับพบว่า Tether ซึ่งเป็นหนึ่งใน Stable Coin ตัวหลักของโลกมีคุณลักษณะในการเป็น Safe Haven (สินทรัพย์ที่ราคาไม่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสินทรัพย์อื่นในพอร์ตการลงทุน) ได้ดีในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงเช่นในช่วงการระบาดของ Covid-19 ในขณะที่ Bitcoin ไม่มีคุณลักษณะในการเป็น Safe Haven เพราะราคามีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับสินทรัพย์หลักตัวอื่นๆ เช่น หุ้นสามัญเป็นต้น ดังนั้นแม้ว่าคริปโตเคอร์เรนซีมีแนวโน้มที่จะมีประโยชน์ในด้านการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน แต่เนื่องจากคริปโตเคอร์เรนซีเป็นนวัตกรรมทางการเงินชนิดใหม่มากๆ ที่ยังต้องมีการศึกษาวิจัยอีกมาก แถมข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์มีระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ดังนั้นจึงยังมีอีกหลายอย่างที่เราทุกคนควรตระหนักว่า “เรายังไม่รู้” อีกมากเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี

อันตราย “จริงๆ” ของคริปโตเคอร์เรนซีในปัจจุบัน (และอีกหลายปีในอนาคต)


สิ่งที่อันตรายที่สุดของคริปโตเคอร์เรนซีคือ การที่คนจำนวนมากเข้ามา “เล่นคริปโตฯ” หรือ “เล่นดาบแสนคม” เล่มนี้ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความชำนาญอย่างแท้จริง ซึ่งคล้ายๆ กับการที่เราเห็นเด็กคนหนึ่งเอาของมีคมมาเล่นกับเพื่อน ซึ่งคงเป็นภาพที่คิดแล้วน่าจะสร้างความกังวลให้กับทุกๆ คนอย่างไม่น้อย ในปัจจุบันคนจำนวนมากซื้อคริปโตเคอร์เรนซีเพื่อการลงทุน โดยหวังว่าราคาของคริปโตเคอร์เรนซีจะมีมูลค่าสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในอนาคต อย่างไรก็ตามมูลค่าของเหรียญจะสูงขึ้นได้จะมีเพียงกรณีเดียวก็คือมีคนที่มีความต้องการซื้อและถือเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้น เนื่องจากเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีนั้นไม่มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทน เช่นเงินปันผล และไม่สามารถนำไปบริโภคหรือใช้ทำประโยชน์อื่นๆ ได้


การลงทุนในเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการคาดการณ์ว่าจะมีเงินใหม่ไหลเข้ามาในตลาดเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เงินเก่า และเนื่องจากจำนวนคนที่สนใจซื้อเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีมีจำกัด ในที่สุดแล้วราคาเหรียญคริปโตก็จะไม่สามารถขึ้นต่อไปได้ตลอดเวลาและอาจจะถึงจุดอิ่มตัวเมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้ราคาของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซียังมีความผันผวนมากกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่นที่นักลงทุนนิยมเช่น การลงทุนในหุ้นค่อนข้างมากและที่สำคัญงานวิจัยของ Phiromswadและคณะ (2021) ยังตรวจพบวันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง (Jump) ในราคาของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่มากกว่า 27 ใน 123 วันที่ทำการศึกษาซึ่งเป็นปริมาณที่ค่อนข้างสูง


อันตรายอีกประการหนึ่งของคริปโตเคอร์เรนซีคือการที่หลายคนคิดไปเองว่าตนสามารถเก็งกำไรในการชื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีได้ และหวังว่าวิธีนี้จะเป็นวิธี “รวยทางลัด”โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Delfabbro และคณะ (2021) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร “Journal of behavioral addictions” ซึ่งเป็นวารสารชั้นนำของโลกในด้านพฤติกรรมเสพติดได้กล่าวถึงพฤติกรรมของผู้ที่ชื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีในเชิงจิตวิทยาว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่เหมือนกับการพนันออนไลน์(Online Gambling) หรือนักเก็งกำไรรายวัน (Day Trader) เช่นการคิดไปเองว่าตนสามารถควบคุมผลลัพธ์ (Illusion of Control) ของการชื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีได้ซึ่งคนเรามักจะคิดเข้าข้างตัวเองไปว่าตอนที่สามารถทำกำไรได้จากการพนัน การเก็งกำไรรายวัน หรือการชื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีนั้นเป็นผลมาจากความสามารถในกลยุทธ์ของตนเอง แต่ในขณะที่ขาดทุนกลับไม่โทษกลยุทธ์นั้นและกลับคิดไปเองว่าปัจจัยภายนอกเป็นสาเหตุที่ทำให้ขาดทุน


อีกประเด็นที่สำคัญคือผู้ที่ถือเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีอยู่แล้วจะมีแนวโน้มที่อยากจะชักชวนให้ผู้อื่นเข้ามาถือเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้น ทั้งในแบบบริสุทธิ์ใจที่อยากแบ่งปันสิ่งที่ตนคิดว่าดีให้กับผู้อื่น หรือทั้งแบบไม่บริสุทธิ์ใจที่อยากให้คนอื่นเข้ามาซื้อเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีมากขึ้นเพื่อให้ราคาเหรียญที่ตนถืออยู่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยใช้สื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสความนิยมของคริปโตเคอร์เรนซีที่สามารถกระจายข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง ซึ่งสิ่งนี้สามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ถูกเรียกว่า “ความกลัวตกกระแส (แต่ไม่กลัวเจ็บ)” (Fear of Missing Out: FOMO) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เวลาคนเราเห็นคนอื่นมีความสุข มีความสนุก หรือกำลังได้รับประโยชน์อะไรบางอย่าง เช่น ถูกรางวัลลอตเตอรี่ ชนะพนัน ได้กำไรจากการเก็งกำไรรายวัน หรือได้กำไรจากการชื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ก็อยากที่จะได้รับความสุข ความสนุก หรือประโยชน์อย่างที่คนอื่นๆ เขาได้กันบ้าง และมีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะต้องเจ็บตัวจากการเข้าร่วมกิจกรรมนี้


การลงทุนในเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีเป็นการใช้เงินใหม่เพื่อสร้างผลตอบแทนให้เงินเก่า ประกอบกับการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซียังไม่มีการกำกับควบคุมดังเช่นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าอาจจะมีกลุ่ม “เงินเก่า” ระดับใหญ่ ที่บางคนเรียกว่า “เจ้ามือ” หรือ “วาฬ”ที่เป็นกลุ่มคนที่ถือเหรียญบางเหรียญไว้เป็นจำนวนมากมีความตั้งใจที่จะสร้างกระแสและโฆษณา หรือ “ปั่น” เพื่อดึง “เงินใหม่” จากนักลงทุนรายเล็กที่มักจะถูกเรียกว่า “แมงเม่า” ให้มีความต้องการซื้อเหรียญนั้นๆ เพิ่มมากขึ้นและดันราคาเหรียญให้มีราคาสูงขึ้น แต่เนื่องจากเงินใหม่หรือจำนวนคนที่มีความต้องการเหรียญมีจำกัด สุดท้ายแล้วราคาเหรียญก็จะไม่สามารถขึ้นต่อไปได้ ถึงจุดอิ่มตัว ซึ่งเจ้ามือก็จะเทขายทำกำไร ได้รับผลกำไรอันสวยงาม ในขณะที่นักลงทุนรายเล็กทั้งหลาย ต่างก็ต้องรับการขาดทุน ดังเช่นการ “หนีตาย” ที่เกิดขึ้นกับเหรียญ Luna ไม่นานมานี้ที่เหรียญมีมูลค่าลดลงถึง 99% ในสองวันดังนั้นผู้ที่ซื้อคริปโตเคอร์เรนซีเพื่อการลงทุนจะต้องพึงระวังเอาไว้มากๆ ว่าเมื่อถึงจุดอิ่มตัวที่ไม่มีผู้ซื้อใหม่หรือเงินก้อนใหม่เข้ามาซื้ออีก มูลค่าของเหรียญจะหยุดและไม่ขึ้นสูงได้อีก

อนาคตของคริปโตเคอร์เรนซี


ของมีคมทุกชนิดต่างๆ ก็มีทั้งประโยชน์และโทษ ยิ่งคมมากก็ยิ่งต้องมีความระมัดระวังในการใช้อย่างมาก เช่นเดียวกันกับคริปโตเคอร์เรนซีที่สามารถมองได้ว่าเป็น “ดาบแสนคม” ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องเข้ามากำกับดูแลเพื่อให้สังคมส่วนรวมได้รับประโยชน์มากกว่าโทษจากนวัตกรรมทางการเงินชนิดนี้ อย่างเช่น การกำกับดูแลการโฆษณาสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเหมาะสมเพื่อให้ประชาชนทุกคนทราบทั้งประโยชน์และโทษของนวัตกรรมนี้อย่างรอบด้าน การโฆษณาที่อาจจะกระทบกับกลุ่มเปราะบางเช่น เด็กและเยาวชน การเร่งให้ความรู้แก่ประชาชนถึงข้อควรระวังต่างๆ โดยเฉพาะความผันผวนของราคาคริปโตเคอร์เรนซี การบริหารความเสี่ยงทางการเงินส่วนบุคคลไม่ให้ใช้เงินทั้งหมดที่มี หรือกู้ยืมเงินมาเล่นคริปโตเคอร์เรนซีจนหมด


การประชาสัมพันธ์ข่าวด้านลบของผู้ที่หมดตัวจากคริปโตเคอร์เรนซีให้กว้างขวาง เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเสพแต่ข่าวดีเพียงด้านเดียว การบังคับให้ผู้ลงทุนทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนการลงทุนในเหรียญคริปโต การควบคุมดูแลโฆษณาที่ขัดแย้งกับหลักการที่กล่าวข้างต้นโดยเฉพาะโฆษณาที่สื่อว่าการมีความรู้ ความชำนาญ และความเข้าใจในความเสี่ยงของคริปโตเคอร์เรนซีเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น การกำกับดูแลธุรกรรมต่าง ๆ ของคริปโตเคอร์เรนซีที่สามารถสร้างผลเสียมากกว่าผลดีต่อสังคม เช่น การหลอกลวง การโจรกรรมทางดิจิทัล การจงใจ “ปั่นราคา” หรือแม้แต่ผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมจากคริปโตเคอร์เรนซี เพราะเราทุกคนไม่ควร “ประมาท” ถ้าไม่อยากถูกบาดด้วย “ดาบแสนคม”


อ้างอิง

Akhtaruzzaman, M., Sensoy, A., & Corbet, S. (2020). The influence of Bitcoin on portfolio diversification and design. Finance Research Letters, 37. https://doi.org/10.1016/j.frl.2019.101344

Bouri, E., Lucey, B., &Roubaud, D. (2020). Cryptocurrencies and the downside risk in equity investments. Finance Research Letters, 33. https://doi.org/10.1016/j.frl.2019.06.009

Delfabbro, P., King, D. L., & Williams, J. (2021). The psychology of cryptocurrency trading: Risk and protective factors. Journal of behavioral addictions, 10(2), 201-207.

Goodell, J. W., & Goutte, S. (2021). Diversifying equity with cryptocurrencies during COVID-19. International Review of Financial Analysis, 76. https://doi.org/10.1016/j.irfa.2021.101781

Phiromswad, P., Chatjuthamard, P., Treepongkaruna, S., &Srivannaboon, S. (2021). Jumps and Cojumps analyses of major and minor cryptocurrencies. PloS one, 16(2), e0245744.

Urquhart, A., & Zhang, H. (2019). Is Bitcoin a hedge or safe haven for currencies? An intraday analysis. International Review of Financial Analysis, 63, 49–57. https://doi.org/10.1016/j.irfa.2019.02.009


โดย ผศ.ดร. ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ, ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์, ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


รู้ทันเกม รู้ก่อนใคร ติดตาม "ทันหุ้น" ที่นี่

FACEBOOK คลิก https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/

YOUTUBE คลิก https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA

Tiktok คลิก https://www.tiktok.com/@thunhoon_

APP ทันหุ้น ANDROID คลิก https://qrgo.page.link/US6SA

APP ทันหุ้น IOS คลิก https://qrgo.page.link/QJKT7

LINE@ คลิก https://lin.ee/uFms4n5

TELEGRAM คลิก https://t.me/thunhoon_news 

Twitter คลิก https://twitter.com/thunhoon1

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X