> เคล็ดลับลงทุน >

10 พฤษภาคม 2022 เวลา 17:20 น.

กลยุทธ์ลงทุนเดือน พ.ค. ยังต้องจับตาเฟด

ประเด็นที่นักลงทุนให้ความสำคัญในเดือนนี้ คงหนีไม่พ้นผลการประชุม FOMC ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงไปพร้อมๆ กับการประกาศลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (Quantitative Tightening) ที่วงเงินไม่เกิน 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลดขนาดงบดุลในวงเงิน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ซึ่งจะปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 1.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ครบอายุในแต่ละเดือนโดยไม่มีการซื้อเพิ่มเติม


และหลังจากนั้น 3 เดือน ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเพิ่มการลดขนาดงบดุลเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตราสารหนี้ MBS วงเงิน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าจะสามารถลดขนาดงบดุลได้ถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 1 ปีข้างหน้า และจะใช้เวลาประมาณ 4 ปี เพื่อให้ขนาดงบดุลกลับมาที่ระดับเดิมก่อนเกิดวิกฤตโควิด


GDPสหรัฐติดลบ

อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจมีอุปสรรคเนื่องจาก GDP ในไตรมาส 1 ปี 2565 ของสหรัฐฯที่รายงานออกมาหดตัว -1.4%QoQ จากผลกระทบของการส่งออกที่ขาดดุลการค้ามากขึ้น รวมถึงการลดลงของสินค้าคงคลัง ซึ่งสวนทางกับผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 1.1% QoQ ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากเกินไปเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจเป็นความเสี่ยงให้ GDP ติดลบในไตรมาสที่ 2 และทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (GDP ติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส)


สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ การปรับฐาน (Correction) ของดัชนี S&P500 ในรอบนี้ มองว่าดัชนีได้ปรับตัวลงมาถึง แนวรับที่น่าสนใจในเชิงปัจจัยราคา (Valuation) โดยค่า Forward P/E ของดัชนี S&P500 ปรับลดลงมาบริเวณค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี  ที่ดัชนีประมาณ 4,100-4,200 จุด ซึ่งในกรณี Base Case ดัชนีมีโอกาสที่จะ Priced in การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% แล้วค่อยๆ ฟื้นตัวได้หลังจากนี้


กำไรบจ.แกร่ง

โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากผลประกอบการของหุ้นในดัชนี S&P500 ที่รายงานผลประกอบการออกมาแล้ว 294 บริษัท ซึ่งกว่า 80% ของบริษัทจดทะเบียนที่รายงานผลประกอบการออกมามีกำไรดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด โดยมียอดขายและกำไรรวมมากกว่าที่ตลาดคาดราว 1.82% และ 3.14% ตามลำดับ  แสดงถึงการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งท่ามกลาง GDP ที่หดตัวในไตรมาสที่ 1


นอกจากนี้ Bloomberg Consensus ยังคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้ธนาคารกลางสหรัฐฯไม่ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ


แต่อย่างไรก็ตาม หากรายงานการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC Minutes) ออกมา Hawkish มากกว่าที่นายเจอโรม พาวเวล แถลงในวันที่ 4 พ.ค. ก็อาจเข้ากรณี Worst Case โดยดัชนีมีโอกาสปรับตัวลงมาบริเวณ Forward P/E เฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี ที่ระดับ 17 เท่า คิดเป็นระดับราคาที่ประมาณ 3,800 - 3,900 จุด (คาดการณ์กำไรต่อหุ้นปี 2565 ที่ 228 ดอลลาร์สหรัฐฯ)


รัฐบาลจีนย้ำรักษาการเติบโต

ขณะที่ตลาดหุ้นจีน ปัจจุบันยังมีปัจจัยกดดันจากมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดและยาวนานกว่าที่ตลาดคาด จากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้นักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการ GDP จีนลดลงต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาล


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงเน้นย้ำว่าจะรักษาการเติบโตของ GDP ให้ได้ตามเป้าหมายที่ระดับ 5.5% พร้อมใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การใช้จ่ายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งให้ธนาคารกลางจีน(PBOC) ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เช่น การปรับลดอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR), นโยบายผ่อนผันการชำระหนี้บ้าน และช่วยเร่งออกพันธบัตรสำหรับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด


ความไม่แน่นอนจากปิดเมือง

เรามองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะเริ่มเห็นผลในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ปัจจัยราคาของหุ้นจีนยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยค่า Forward P/E อยู่ที่ระดับ 11.7 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ที่บริเวณ -0.5 S.D. ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ค่อนข้างถูกสำหรับการลงทุนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นตลาดหุ้นจีนยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของมาตรการปิดเมือง เราจึงแนะนำให้ทยอยลงทุนอย่างระมัดระวัง



คอลัมน์: Wealth Up with MFC

โดย: ไชยวัฒน์ คมโสภาพงศ์

บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน)

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X