> เคล็ดลับลงทุน >

09 พฤษภาคม 2022 เวลา 13:00 น.

ท่ามกลางความผันผวน

ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนค่อนข้างรุนแรงในเดือน เม.ย. 2565 โดยส่วนมากเป็นการปรับตัวลงโดยกว้างในเกือบทุกประเภทสินทรัพย์ นักลงทุนส่วนมากปรับตัวเข้าสู่โหมด ‘ลดความเสี่ยง (Risk-off) เต็มตัว จากปัจจัยหลักคือท่าทีของธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่ต้องการสกัดเงินเฟ้อภายในประเทศ หลังรายงานตัวเลข CPI เดือนมีนาคมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่พุ่งสูงขึ้นถึง 8.5% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบหลายสิบปี 


ในขณะที่ฝั่งยุโรปซึ่งได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ ประเทศอย่างเยอรมนีที่พึ่งพิงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในสัดส่วนที่สูงจากต่างชาติ ก็ได้รายงานดัชนีต้นทุนของผู้ประกอบการ (Producer Price Index) ในเดือนมีนาคมที่สูงถึง 30.9% ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 


ดัชนีความผันผวนพุ่ง

ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและนโยบายทางการเงินกดดันดัชนีหุ้นโลกอย่าง MSCI ACWI ปรับตัวลงกว่า 8.3% ในเดือนเมษายน ดัชนีความผันผวนอย่าง VIX Index กลับขึ้นมาอยู่เหนือระดับสูงเกิน 30 อีกครั้ง ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY ยืนอยู่เหนือระดับ 103 สูงที่สุดในรอบ 5 ปี


ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จากธรรมชาติ หรือ Hard Commodity ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอย่างน้ำมัน หรือโลหะสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมเริ่มเห็นการทรงตัวของราคา ด้วยเหตุผลจากอุปสงค์ที่ปรับลดลงตามธรรมชาติจากราคาที่สูงขึ้น ประกอบกับการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 


ในทางกลับกัน กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์จากการผลิตของมนุษย์ หรือ Soft Commodity เช่น กลุ่มพืชผลทางการเกษตรยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากทั้งภาวะสงครามในประเทศที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ และต้นทุนที่สูงขึ้นมากทั้งค่าปุ๋ยและค่าแรงงาน ส่งผลให้เริ่มเกิดความขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวในหลายพื้นที่รอบโลก 


และล่าสุดองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แสดงถึงความกังวลต่อระดับราคาอาหารทั่วโลกพร้อมรายงานดัชนีราคาอาหารที่ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 159.3 ซึ่งปรับตัวขึ้นมากกว่า 19% หากนับจากสิ้นปี 2564 พร้อมกับเริ่มมีข่าวการเพิ่มการกักตุนคลังอาหาร หรือการลดการส่งออกวัตถุดิบอาหารในหลายประเทศ


วิกฤติ Wage-Price Spiral 

สำหรับปัจจัยหลักที่กดดันสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมาหนีไม่พ้นเรื่องของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายประเทศ สะท้อนความกังวลต่อตัวเลขเงินเฟ้อที่เกินคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่วิเคราะห์ไว้ เป็นผลให้ Fed ต้องเปลี่ยนท่าทีดุดันเต็มที่เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่ดูเหมือนจะลากยาว ประกอบกับภาวะการจ้างงานในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง จึงมีนักวิเคราะห์ออกมาชี้ถึงความเป็นไปได้ของโอกาสที่สถานการณ์จะลุกลามเป็นวิกฤติ Wage-Price Spiral หรือการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าแข่งกับรายได้ของคน จนตัวเลขทั้งสองฝั่งผลักดันกันสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ


ท่าที Hawkish ของ Fed ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าจนอาจเรียกว่าเป็นนโยบายที่ผิดพลาดของปีที่แล้วที่ผ่อนปรนนานเกินไป ประกอบกับความไม่แน่นอนจากภาวะสงครามที่ระอุขึ้นเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ยิ่งทำให้ Fed เลื่อนการตัดสินใจออกไปอีกจนถึงปัจจุบัน การเร่งลงมือจริงโดยเร็วตามคำพูดที่ให้ไว้จึงจำเป็นเพื่อที่จะระงับความคาดหวังเงินเฟ้อ (Inflation expectation) ของประชาชนลงบ้าง 


ดบ.เฟด 1.75 – 2.00%  

ส่งผลให้ปัจจุบันนักลงทุนในตลาดมากกว่า 80% อ้างอิงจาก CME FedWatch Tool ตอนนี้เชื่อว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 50 basis points ติดกัน 3 ครั้ง ในการประชุมรอบเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกรกฎาคม ซึ่งหากเป็นไปตามนี้จริง เราจะเห็นตัวเลขอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่ระดับ 1.75 – 2.00% ภายใน 2 เดือนข้างหน้า


ตราสารหนี้ตอบรับการคาดการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรงในปีนี้ โดยเกิดการปรับลดการถือครองของตราสารหนี้จากนักลงทุนทั่วโลก ส่งผลให้ดัชนีตราสารหนี้โลกอย่าง Bloomberg Global-Aggregate Total Return Index ซึ่งมีขนาดตามมูลค่าตลาดสูงกว่า 60 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวลงตั้งแต่ต้นปีไปกว่า 10% นับเป็นการปรับตัวลงรุนแรงที่สุดตั้งแต่ Bloomberg จัดทำดัชนีนี้มา 


ในขณะที่ ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯชนิดอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจาก 2.35% ณ วันที่ 30 มีนาคม 2565 มาอยู่ที่ 2.87% ณ วันที่ 29 เมษายน 2565 และมีบางช่วงเวลาที่ขึ้นไปเหนือระดับ 3.00%


ในส่วนของสินทรัพย์ที่เป็นเครื่องมือใช้ป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างทองคำเป็นที่จับตามอง เพราะแม้ผลตอบแทนที่แท้จริง (Real yield) ของพันธบัตรสหรัฐฯ มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าสุดในรอบ 5 ปี ต่างเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ แต่ดูเหมืออุปสงค์จากทั้งทางรายย่อย และธนาคารกลางหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ต่างทยอยเพิ่มการถือครองทองคำในช่วงเวลาที่ผ่านมา จึงทำให้ราคาทองคำยังเป็นบวกจากสิ้นปีที่แล้วอยู่ประมาณ 5%


เพิ่มทองคำ-ลดEM

กลยุทธ์การลงทุนของ Asset Allocation ในเดือนพฤษภาคม 2565 เราเน้นกระจายความเสี่ยงด้วยการถือทองคำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ลดความกระจุกตัวจากการลงทุนในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ไปถือครองหุ้นโลกและหุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับผลประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูงเพิ่มขึ้น



คอลัมน์: Investment-Focus

ดร. สมชัย อมรธรรม

และ ธนธัช ศรีสวัสดิ์

บลจ. กรุงไทย

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X