> เป้าลงทุน หุ้นคาร์บอนต่ำ >

23 กันยายน 2021 เวลา 06:20 น.

Evergrandetoo big to fail

ความคืบหน้าล่าสุดของบริษัทเอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป(Evergrande)  บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศจีนบริษัทเหิงต้า เรียล เอสเตท กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ได้เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมที่จะชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ในวันที่ 23 ก.ย.64 คิดเป็นวงเงินรวม 232 ล้านหยวน (35.88 ล้านดอลลาร์)หุ้นกู้ดังกล่าวซึ่งซื้อขายในตลาดหุ้นเซินเจิ้นนั้นจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ย. ปี 2568 และจ่ายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.8%


ส่วนดอกเบี้ยที่ เอเวอร์แกรนด์มีกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ต่างประเทศสกุลดอลลาร์จำนวน 83.53 ล้านดอลลาร์ ยังไม่มีการรายงานว่า เอเวอร์แกรนด์ จะสามารถชำระได้หรือไม่ 


เป็นที่คาดหมายกันว่า เอเวอร์แกรนด์จะผิดนัดชำระหนี้การจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้83.53 ล้านดอลลาร์ ข้างต้น รวมไปถึงการผิดนัดจ่ายดอกเบี้ย 47.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีกำหนดชำระในวันที่ 29 ก.ย. และอาจมีผิดนัดชำระดอกเบี้ยที่มีกำหนดจ่ายในช่วงที่เหลือของปีจำนวน 669 ล้านดอลลาร์ 

ความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่โหญ่โตมโหฬาร ของ เอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการปั่นป่วนไปทั่วตลาดการเงินและตลาดหุ้นทั้งโลก ด้วยเพราะ เอเวอร์แกรนด์ คือบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่หนี้“มากที่สุดในโลก” โดยมีหนี้สินรวมกว่า 304,549 ล้านดอลลาร์ (จากงบการเงินไตรมาส 1/2021) หรือคิดเป็นประมาณ 10 ล้านล้านบาทไทยขนาดของหนี้ใหญ่ถึง 2% ของGDP จีน และมากกว่า 60% ของ GDP ไทย


ตลาดมีความกลัวว่าการล้มละลายของ เอเวอร์แกรนด์กรุ๊ป นอกจากจะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆที่ต้องหยุดชะงัก บรรดาเจ้าหนี้โดยเฉพาะสถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคารทั้งในจีนและทั่วโลกโดยเฉพาะในเอเชียประมาณ 249 แห่ง ต้องตามล้มไปด้วย จนไปสู่การลุกลามบานปลาย สุดท้ายแล้วก็จะเกิด “วิกฤติ” ทางการเงินและตลาดหุ้น เหมือนอย่างที่เคยเห็นมาในหลายๆเหตุการณ์ เช่น วิกฤติซับไพร์มและวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือแม้แต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ก็ล้วนมีต้นกำเนิดจากฟองสบู่หนี้ภาคอสังหาฯด้วยกันทั้งนั้น


เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P)ได้ออกมาเตือนทางการจีนว่า หากยังนิ่งเฉยต่อปัญหา เอเวอร์แกรนด์มันจะไม่ใช่แค่เรื่องความเสี่ยงเฉพาะกิจการ แต่มันจะกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) ต่อระบบเศรษฐกิจทั้งของจีนและโลก


ทั้งนี้ตลาดการเงิน ยังคงเชื่อว่าทางการจีนจะต้องมีมาตรการใดมาตรการหนึ่งออกมาระงับยับยั้งไม่ให้ระเบิด เอเวอร์แกรนด์ ลุกลามบานปลาย โดยมองการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินของธนาคารแห่งชาติจีน (PBoC) ผ่านธุรกรรม reverse repo วงเงินกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขไม่ให้ปัญหาของเอเวอร์แกรนด์ลุกลามสู่ความเสี่ยงเชิงระบบต่อภาคการเงิน (Financial Systematic Risks)


หากจีนจะมีการออกมาตรการ เชื่อว่าจะไม่ใช่มาตรการช่วย เอเวอร์แกรนด์ โดยตรง โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะปล่อยให้ เกิดผิดนัดชำระหนี้ และเข้าสู่กระบวนการล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ โดยทางการจีนจะเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการปรับโครงสร้างหนี้ รวมไปถึงการเข้าช่วยเหลือและเสริมสภาพคล่องให้กับบรรดาเจ้าหนี้ และชดเชยให้กับประชาชนที่ได้เข้าไปซื้อโครงการของ เอเวอร์แกรนด์


ผมประเมินปัญหาของ เอเวอร์แกรนด์ยังไม่น่าบานปลายจนควบคุมไม่อยู่ แม้ เอเวอร์แกรนด์จะหมีนี้สินขนาดใหญ่ แต่ในงบการเงินไตรมาส 1/2021 เอเวอร์แกรนด์ มีสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้เงินสดได้เร็ว โดยเฉพาะโครงการอสังหาฯที่รอจำหน่าย แม้ในช่วงเร่งขายเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้จะทำให้ราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง แต่ก็เชื่อว่าน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาต่อเจ้าหนี้ได้บ้าง


แม้ว่าจะมีการมองกันว่าปัญหาของ เอเวอร์แกรนด์ ดูคล้าย วิกฤติต้มยำกุ้ง และวิกฤติซับไพร์ม แต่ผมมองว่ามันไม่ได้เหมือนกันซะทีเดียว จุดที่แตกต่างกันมากคือ ความเกี่ยวพันกับตลาดากรเงินทั้งระบบ สมัยปี 2540 ไทยมีการเก็งกำไรในตลาดอสังหาฯกันสูงมาก


บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงนั้น เร่งขยายโครงการด้วยการกู้เงินจากสถาบันการเงินโดยเฉพาะที่เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และเน้นกู้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินบาทมาก โดยที่กู้กันอย่างชะล่าใจไม่กลัวว่าจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยตอนนั้นใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบ “คงที่”จนเมื่อไทยถูกโจมตีค่าเงินบาท บวกกับเศรษฐกิจในประเทศหดตัวมาก่อนอยู่แล้ว ส่งผลให้บรรดาบริษัทต่างๆที่กู้เงินต่างประเทศต้องมีหนี้สินเพิ่มทวีคูณ จึงพากันล้มละลาย และลามมาสู่บรรดาเจ้าหนี้สถาบันการเงินต่างๆต้องล้มตามไปด้วย ดังนั้น อสังหาริมทรัพย์จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิกฤติเท่านั้น


ส่วนวิกฤติซับไพร์มรากเหง้าของปัญหาคือสถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับที่มีรายได้ต่ำซื้อบ้านกันเป็นจำนวนมาก และนำหนี้มาผูกรวมกันออกเป็นตราสารหนี้อันหนึ่ง (ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นหลักประกันการจำนอง: Mortgage-backed security (MBS)) ซึ่งผู้ออกตราสารเชื่อว่า แม้จะมีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ แต่ก็เป็นเพียงส่วนเดียวจากลูกหนี้รายอื่นๆที่ถูกผูกไว้มัดไว้ในตราสาร ความเสี่ยงที่ตราสารหนี้นี้จะผิดนัดชำระหนี้ก็มีน้อยมาก อย่างไรก็ตามการที่สถาบันการเงินปล่อยกู้จนมากเกินไป จนหนี้สินสูงกว่าทุนมากๆ เมื่อเกิดกรณีราคาอสังหาริมทรัพย์ตก หรือลูกหนี้เริ่มผิดนัดชำระหนี้พร้อมกันเป็นจำนวนมาก สถาบันการเงินนั้นๆก็พร้อมที่จะเข้าสู่สภาวะล้มละลายทันที เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับ เลย์แมนบราเธอร์ วาณิชธนกิจ ขนาดใหญ่ของสหรัฐ


จะเห็นได้ว่ากรณีของ เลย์แมนบราเธอร์ มีความสลับซับซ้อนกว่า เอเวอร์แกรนด์ตรงที่มีความเกี่ยวพันกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มากกว่า ดังนั้นปัญหาหนี้สินของบริษัทเอเวอร์แกรนด์รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆกำลังจะติดตามมาจะไม่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลกและเอเชียอย่างที่ตลาดการเงินกำลังกลัว กระนั้นคงหนีไม่พ้นที่จะต้องมีความผันผวนในระยะสั้นบ้าง คาดว่าความกลัวเรื่อง เอเวอร์แกรนด์น่าจะทำให้เงินไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ของเอเชียไปอีกซักระยะ


ความเหมือนของ เอเวอร์แกรนด์ กับวิกฤติการเงินต่างๆในอดีต ที่ชัดเจนที่สุดมีเพียงอย่างเดียว คือการก่อหนี้ใหญ่เกินตัว หากมีบทเรียนอะไรสำหรับเรื่องนี้ คือระดับหนี้สินต่อทุน การที่จะเข้าไปซื้อหุ้นกู้หรือปล่อยกู้ให้กับกิจการใด ควรต้องให้ความสำคัญต่อระดับหนี้สินต่อทุน หากบริษัทไหนมีหนี้สินต่อทุนสูง เช่น เอเวอร์แกรนด์ เป็นบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่มีหนี้สินต่อทุนเกือบถึง 6 เท่า ย่อมมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เจ้าหนี้รายใดที่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทที่มีหนี้สินต่อทุนสูงก็ต้องรับสภาพหนี้สูญกันไป



อยากลงทุนสำเร็จ เป็นเพื่อนกับเรา พร้อมรับข่าวสารได้ทุกช่องทางที่
APP ทันหุ้น ANDROID คลิก
https://qrgo.page.link/US6SA
APP ทันหุ้น IOS คลิก
https://qrgo.page.link/QJKT7
LINE@ คลิก
https://lin.ee/uFms4n5
FACEBOOK คลิก
https://www.facebook.com/Thunhoonofficial/
YOUTUBE คลิก
https://www.youtube.com/channel/UCYizTVGMealUUalT6VdUdNA
TELEGRAM คลิก
https://t.me/thunhoon_news
Twitter คลิก
https://twitter.com/thunhoon1

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X