> ประกัน > TIPH

20 กันยายน 2021 เวลา 18:35 น.

ซีอีโอTIPHปั้นโมเดลธุรกิจ ขึ้นหุ้นยั่งยืน-โกรทสต็อก

ทันหุ้น- ซีอีโอ TIPH“สมพร สืบถวิลกุล” ชี้ “ไคลเมท เชนจ์” ทำให้ภัยธรรมชาติรุนแรง ผู้คนจะกังวลความปลอดภัยของชีวิต และทรัพย์สินมากขึ้น มองเป็นช่วงเวลาของการปรับโครงสร้างธุรกิจประกันวินาศภัย รวมถึงหนีการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยี และรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พร้อมกับการคุมต้นทุน และเสริมแกร่งธุรกิจ หวังนักลงทุนมองเป็นหุ้นโกรท และหุ้นยั่งยืน


ดร. สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TIPH กล่าวว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยเองก็เผชิญหน้ากับความท้าทายหลายด้าน ทั้งการดิสรัปชั่น (Disruption) ในธุรกิจที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือไคเมท เชนจ์(climate change) ที่ทำให้ภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น นับเป็นประเด็นที่กระทบต่อธุรกิจประกันวินาศภัยทางตรง


ขณะที่การแข่งขันก็ยังคงรุนแรง การตัดราคาเบี้ยประกันภัยยังคงมีให้เห็น และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กำไรจากการรับประกันภัยบางลงทุกปี เพราะราคาเบี้ยที่ถูกลงไม่สอดรับกับความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะประกันรถยนต์ และไม่ต้องพูดถึงกำไรจากการลงทุนนภาวะดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เป็นเรื่องยากมากในการหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ย ซึ่งประเด็นความท้าทายเหล่านี้ ดร. สมพร  มองว่าทำให้ธุรกิจประกันภัยต้องปรับตัว


TIPHหุ้นเติบโต-ยั่งยืน

ดร. สมพร กล่าวว่า การจะเป็นหุ้นเติบโต (Growth Stock) หรือ หุ้นยั่งยืน (Sustainability) ทิพยประกันภัยถึงต้องปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อจับกับโอกาสและความท้าทายในโลกใหม่ เป็นต้นว่าเรื่องของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้มนุษย์เผชิญภัยใหญ่มากขึ้น ผู้คนเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงในสินทรัพย์ และคุณภาพชีวิต ในเรื่องนี้ทำให้ บริษัทตระหนักถึงโอกาสในการขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น


“แต่การจะเข้าถึงลูกค้าได้มากในต้นทุนที่ต่ำลง จะเดินธุรกิจในรูปแบบเดิมไม่ได้ เพราะกระบวนการออกกรมธรรม์แต่ละฉบับจะมีต้นทุนแฝง ตั้งแต่ค่ากระดาษ ค่านายหน้า ค่าส่งเอกสาร และสิ่งเหล่านี้สามารถควบคุมได้หากมีการนำระบบเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสม แน่นอนว่าเราไม่ได้พูดถึงการลดจำนวนคน แต่เป็นการย้ายคนไปทำงานที่ทักษะสูงขึ้น”


ดร. สมพร กล่าวต่อไปว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ นอกจากลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจในระยะยาวแล้วยังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วย และภายใต้โครงสร้าง TIPHซึ่งมี บริษัท ทิพยประกันภัย อยู่ใต้หลังคา ก็จะยังแตกลูกออกมาดำเนินธุรกิจอินชัวร์เทค (Insurtech) ทำให้หน้าที่ในการพัฒนานวัตกรรมประกันภัย ทั้งสินค้า และบริการ


การดำเนินธุรกิจ อินชัวร์เทค อย่างแท้จริงยังไม่มีในภาคอุตสาหกรรมประกันภัยไทย และเป็นตลาดที่ทิพยประกันภัยสนใจเข้าไปเล่น ดังนั้นที่ผ่านมา ทิพยประกันภัยจึงสนใจเข้าไปสนับสนุนสตาร์อัพ (Start Up) ที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับประกันภัย แต่สามารถนำมาพัฒนาและต่อยอดให้เกิดการเติบโตในกลุ่มธุรกิจภายใต้  TIPH


TIP Digital เอาใจรุ่นใหม่

โมเดลอินชัวร์เทคของบริษัท หรือ ทิพดิจิทัล (TIP Digital) จะแยกออกจากบริษัท ทิพยประกันภัย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยน ความยืดหยุ่นสูง และสามารถควบคุมต้นทุนการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่ง TIP Digital ก็เหมือนห้องทดลองนวัตกรรม ซึ่งถ้าอันไหนพัฒนาออกมาแล้วเดินต่อไม่ได้ก็สามารถดำเนินการยุติได้ทันที และอันไหนที่พัฒนาแล้วออกมาดี ก็ขยับขยายต่อได้ โมเดลอินชัวร์เทคจึงต้องมีความยืดหยุ่นสูง


ดร. สมพร กล่าวว่า อินชัวร์เทค เข้ามาตอบโจทย์พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ ที่ชอบหาข้อมูล ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการด้วยตัวเอง ดังนั้น TIP Digital จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ ขณะที่คนบางกลุ่มก็ชอบบริการแบบพรีเมียม (Premuim) ซึ่ง ทิพยประกันภัย จะตอบโจทย์ในรูปแบบดังกล่าว


“ภายใต้ โครงสร้าง TIPH เรามี 3 กลุ่มธุรกิจที่สนใจลงทุน คือ ธุรกิจสำรวจภัยหรืออุบัติเหตุ ธุรกิจนายหน้าประกันภัย และกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ โดย 75%ของเรายังคงเน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประกันภัย ซึ่งเรามองว่าการปรับโมเดลในรูปแบบโฮลดิ้งส์ จะทำให้นักลงทุนมองว่าเราสามารถสร้างการเติบโต รวมถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับกลุ่มธุรกิจทิพยได้”

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ่านต่อ

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X