> รู้ทันการลงทุน >

06 พฤษภาคม 2021 เวลา 14:18 น.

Taper Tantrum...ความเสี่ยงในช่วงถัดไป?

หนึ่งปีกว่าหลังจากเริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลายประเทศที่ได้รับการแจกจ่ายวัคซีนอย่างเพียงพอเริ่มที่จะหันมาเปิดเมือง-เปิดประเทศ ขณะที่อีกหลายประเทศยังคงตั้งหน้าตั้งตารอวัคซีน และพยายามแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดเฉพาะหน้าอยู่นั้น แต่หากมองไปข้างหน้าแล้ว แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกน่าจะค่อยๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น (ตราบเท่าที่วัคซีนยังมีประสิทธิภาพต่อต้านไวรัสได้) ผลการสำรวจที่จัดทำโดย Bank of America ระบุว่าผู้จัดการกองทุนทั่วโลกมองว่า “วิกฤติโควิด” ไม่ได้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดแล้ว แถมยังมองว่าการฟื้นตัวในรอบนี้น่าจะเป็นรูปตัว “V” แทนที่รูปตัว “U” หรือ “W” ที่มองก่อนกันหน้านี้


แล้วอะไรเป็นความเสี่ยงในช่วงถัดไป?  คำตอบกลายเป็น “Taper Tantrum 2.0” แทน

ภาพในการเกิด Taper Tantrum ในครั้งก่อน ยังอยู่ในความทรงจำของนักลงทุนหลายคน เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2013 นี้เอง หลังจากที่เฟดเหยีบคันเร่ง “มิด” เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเผชิญกับวิกฤติ “แฮมเบอร์เกอร์” จนพอเศรษฐกิจฟื้นคืนมาได้ เฟดก็ทยอยถอนมาตรการช่วยเหลือ


ความ “ไม่รู้” (เพราะQE เป็นมาตรการใหม่) บวกกับความ “ตกใจ” (เพราะไม่ได้ส่งสัญญาณมาก่อน) ในครั้งนั้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 1.6% สู่ระดับ 3.0% ภายในระดับเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าสภาพคล่องจะเหือดหายไป นักลงทุนจึงเทขายหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ดัชนี MSCI EM ปรับตัวลง 16% ส่วนตลาดหุ้นไทยก็ร่วงลงไปกว่า 20% จาก 1,631 จุด (ณ วันที่เฟดประกาศ) สู่ระดับ 1,299 จุดตอนสิ้นปีนั้น (และอีกเกือบ 70 จุดในวันซื้อขายแรกของปีถัดไป) นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยไป 1.9 แสนล้านบาทในปีนั้น ส่วนค่าเงินบาทก็ร่วงไป 10% หลังจากที่ร่วงลงไปต่ำกว่า 29 บาทต่อดอลลาร์อยู่พักนึง


แล้วเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นหรือไม่ในรอบนี้? และจะเกิดขึ้นเมื่อใด?

จริงอยู่ว่าเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การแจกจ่ายวัคซีนของสหรัฐฯ ครอบคลุมประชากรไปแล้วกว่า 40% ของประชากรทั้งหมด ถือว่าทำได้ดีเป็นลำดับต้นๆ ของโลก การจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 9 แสนกว่าตำแหน่งในเดือน มี.ค., ดัชนี PMI ภาคบริการแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน เม.ย. และยอดค้าปลีกเทียบเดือนต่อเดือนเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับสอง เป็นรองก็แค่ มิ.ย. ปีก่อนที่เป็นการฟื้นตัวจากการระบาดระลอกแรก แถม ปธน. คนใหม่ยังติดเทอร์โบให้ด้วยจากการแจกเช็คให้กับคนอเมริกันในช่วงที่ผ่านมาอีก


แต่ถึงกระนั้น ในการประชุมเฟดที่ผ่านมา ประธานเฟด พาวเวลล์ ก็ยังคงยืนยันว่า ไม่ใช่เวลาที่เฟดจะหารือเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในมาตรการ QE แต่อย่างใด แม้ว่าการเติบโตหลายอย่างจะดี แต่ก็ยังอยู่ห่างไกลจากการฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพอยู่ดี 


เรายกตัวอย่างให้เห็น เช่น การจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้น 9 แสนกว่าตำแหน่งในเดือนล่าสุด แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิดถึง 8 ล้านกว่าตำแหน่งเลยทีเดียว ไม่นับกับกำลังแรงงานใหม่ที่เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 1.6 ล้านคนต่อปี (เฉลี่ย 5 ปีก่อนโควิด) หมายความว่า ต่อให้มีการจ้างงานเพิ่มอีกเดือนละ 1 ล้านคน (ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้) ก็ยังต้องใช้เวลาถึงสิ้นปีกว่าจะดูดซับแรงงานเหล่านี้ได้หมด


นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบข้อความที่ส่งออกมาจากธนาคารกลางใหญ่ๆ ของโลก 6 แห่ง ไม่ต้องแปลกใจว่าธนาคารกลางที่เป็นสาย “พิราบ” สุดคือ ธนาคารกลางญี่ปุ่น แต่ธนาคารกลางที่เป็นสาย “พิราบ” รองลงมาคือ เฟด นั่นเอง (เผื่อใครสงสัย ธนาคารกลางสาย “เหยี่ยว” สุดก็คือ ธนาคารกลางแคนาดา ที่ล่าสุดเพิ่งออกมาลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE และส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า)


ทั้งนี้ เรามองว่าเป็นไปได้ที่เฟดจะออกมาประกาศลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงปลายปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการจริงในช่วงปีหน้า เมื่อเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนกว่านี้และเข้าใกล้ระดับศักยภาพมากกว่าในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ Bloomberg ที่ระบุว่านักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะประกาศลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรจากระดับ 1.2 แสนล้านในปัจจุบันลงในช่วงก่อนสิ้นปี ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้นไม่ต้องห่วง มันจะยังจะอยู่ในระดับต่ำไปอีกหลายปี


แล้วหากเฟดประกาศลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรแล้ว ผลกระทบต่อตลาดการเงินจะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่าตลาดแรกที่จะกระทบก็คือ ... ตลาดพันธบัตรรัฐบาล (#แอบยิ้ม) อีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำ Taper ในครั้งก่อน คือ การเด้งขึ้นของ Real yield ของสหรัฐฯ ซึ่งตัวอายุ 10 ปีปรับขึ้นถึง 1% เลยทีเดียวในปี 2013 แม้ว่าในปีนี้เราจะเห็น Nominal yield ปรับเพิ่มขึ้นมาถึง 0.7% มาแกว่งตัวในระดับ 1.6 % ในปัจจุบัน แต่นั่นเป็นผลจากการคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและราคาน้ำมันดิบ ขณะที่ตัว Real yield ในรอบนี้ยังปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่าหากเฟดประกาศถอน “คันเร่ง” ก็อาจทำให้ Real yield เพิ่มขึ้นได้อีก ส่งผลต่อ Nominal yield ในทิศทางเดียวกัน ทำให้ตลาดตกใจได้บ้าง แต่กระนั้นปริมาณเงินที่ยังคงมากในระบบ จะทำให้การปรับขึ้นของดอกเบี้ยนั้นไม่มากจนถึงขั้นกระทบกระเทือนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือทำให้เกิดแรงเทขายรุนแรงในสินทรัพย์เสี่ยง


ส่วนผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่ เรามองว่าไม่น่าจะรุนแรงเหมือนในครั้งก่อน ตลาดเกิดใหม่มีการพึ่งพิงเงินดอลลาร์ น้อยกว่าครั้งก่อนมาก การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ได้มากเหมือนในวิกฤติปี 2008 ขณะที่ตลาดจีนนั้นเรียกว่าฟื้นตัวได้ดี จนเห็นทางการเริ่มถอนมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ แม้ว่าตลาดอาจจะผันผวนไปตามกระแสดข่าว เกิดเป็นแรงกระแทกเข้ามาที่ตลาดเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ แต่เหตุการณ์นี้ก็อาจจะไม่ได้กระทบปัจจัยพื้นฐานนัก จึงน่าจะเป็นจุดสะสมสำหรับการลงทุนระยะยาวได้เช่นกัน


ทั้งนี้ ความท้าทายที่สำคัญในปัจจุบันคือการจัดการกับไวรัสวายร้ายตัวนี้ให้ได้ และเราก็เริ่มเห็นตัวอย่างเบื้องต้นในการเอาชนะไวรัสนี้ได้ในต่างประเทศ ซึ่งถ้าเราทำได้จริง ทิศทางเศรษฐกิจโลกน่าจะเป็นขาขึ้นได้ยาวๆ เช่นกัน การลดความช่วยเหลือของทางการลงก็อาจจะกระทบต่อตลาดบ้างในช่วงสั้นๆ และจริงๆ ครั้งนี้เราก็น่าจะ “รู้” และไม่ (น่าจะ) “ตกใจ” ทำให้ผลกระทบของการ Taper น่าจะแตกต่างจากครั้งก่อน โดยรวมแล้วเรายังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่นะครับ และท้ายที่สุดนี้ ขออวยพรให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดโรค ปลอดภัย กันทุกท่านนะครับ #เราจะผ่านไปด้วยกัน


ผู้เขียน 

ดร. สมชัย อมรธรรม

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์

บลจ. กรุงไทย

จาก
ถึง
Select...
หุ้น
Select...
หัวข้อ
Select...

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของคุณให้ดียิ่งขึ้น การใช้งานเว็บไซต์นี้เป็นการยอมรับข้อกำหนดและยินยอมให้เราจัดเก็บคุ้กกี้ตามนโยบายความเป็นส่วนตัวของเรา  อ่านเพิ่มเติม

X